พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนส.ค.2567 มีมูลค่า 26,182.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(939,521 ล้านบาท) ขยายตัว 7.0 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวที่ 6.6 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,917.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.9% ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 197,192.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(7,068,821 ล้านบาท) ขยายตัว 4.2 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้การส่งออกในเดือน ส.ค.2567 ที่ขยายตัว ได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารขยายตัว จากสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนในหลายประเทศ ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคบริการในตลาดสำคัญ ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นผลักดันให้การส่งออกทั้งหมดเติบโตได้ดี
2.ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าหลัก ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีมุมมองเชิงบวก ต่อเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง เช่น สหภาพยุโรปที่มีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ
3.ค่าระวางเรือบางเส้นทางที่เริ่มปรับลดลง ในช่วงครึ่งปีหลังของเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา
กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากสัญญาณการคลี่คลายของภาวะเงินเฟ้อระดับสูงในหลายประเทศ และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้น การบริโภคในตลาดโลก ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า และสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในหลายประเทศ
นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ให้แก่ผู้ส่งออกไทย ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 2567 ไว้ที่ 2% คิดเป็นมูลค่า 290,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(10 ล้านล้านบาท) อ้างอิงค่าเงินระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะถัดไป ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า ขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาอุทกภัยในประเทศ ที่อาจส่งผลต่อปริมาณ ผลผลิตสินค้าเกษตร
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกไทยขยายตัวได้ดี เป็นสัญญาณว่าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี การส่งออกจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งปี 2567 มูลค่าการส่งออกไทยจะเติบโตอย่างน้อย 1% ตามเป้าหมาย หากไม่มีปัจจัยกดดันเพิ่มเติม อาจมีโอกาสเติบโตถึง 2%
ชัยชาญ มองว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ในด้านสภาพคล่อง และสัดส่วนการทำกำไร ที่จะต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร ทั้งนี้ผู้ประกอบการบางราย ที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยง ไว้ล่วงหน้า หรือผู้ประกอบการรายเล็ก อาจได้รับผลกระทบจนถึงขั้นขาดทุน นอกจากนี้ เงินบาทที่ผันผวน อาจทำให้ผู้ประกอบการชะลอรับคำสั่งซื้อใหม่ ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก ในรูปแบบเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างชัดเจนในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1/2568
สำหรับผลกระทบต่อขึ้นค่าแรง 400 บาท ภาคการส่งออก ชัยชาญ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่ภาคการผลิต ทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก เริ่มทยอยรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า จึงต้องการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน โดยการทำสัญญาซื้อขายเงินตรา ต่างประเทศล่วงหน้า(forward contract) ทำให้มีทั้งต้นทุนทางการเงิน และต้นทุนแรงงาน การชะลอขึ้นค่าแรง จะช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนผู้ประกอบการ จากผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและ sme
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney