นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลาง สำนักงานงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) อยู่ระหว่างหารือถึงแนวทางการปฏิรูปเงินเดือนและสวัสดิการในภาครัฐทั้งหมด เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายภาครัฐสูงมาก ทำให้ต้องมาพิจารณาฐานะการคลัง และภาระการคลังในระยะยาว โดยเฉพาะงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท ยังไม่รวมงบด้านบำเหน็จบำนาญข้าราชการอีก
ทั้งนี้ งบประมาณเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ของราชการ มีแต่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนอายุยืนขึ้น ขณะเดียวกันมีโรคเกิดใหม่มากขึ้น และยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆราคาแพงขึ้น ซึ่งกรมบัญชีกลางจะต้องเข้าไปดูว่าสามารถต่อรองเรื่องราคาได้หรือไม่ หรือสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้หรือไม่
“ต้องดูทั้งกระบวนการข้าราชการทั้งหมด ตั้งแต่การเข้ารับราชการ เงินเดือน และสวัสดิการทุกอย่าง ซึ่งกรมบัญชีกลางได้คุยหารือว่ากระบวนการทั้งหมดในระยะยาว การรับราชการควรจะเป็นอย่างไรสำหรับคนเข้าใหม่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่มีหลายทางเลือก เช่น เงินเดือนเท่ากับภาคเอกชนได้ หรือผลตอบแทนคล้ายกับเอกชน หรือเงินเดือนยังจะให้เหมือนเดิม ซึ่งกำลังบูรณาการหาแนวทางทั้งหมดอยู่ ขอให้ ตกผลึกก่อนว่าจะเอาแบบไหน”
สำหรับรายจ่ายเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐในปีงบประมาณ 67 มีจำนวนรวมอยู่ที่ 818,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.78% จากปีงบประมาณก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วน 25.69% ของงบประมาณรายจ่ายโดย เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีการปรับฐานเงินเดือนในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่จำนวนข้าราชการมีแนวโน้มขยายตัวเพียงเล็กน้อย โดยในปีงบประมาณ 66 ข้าราชการมีจำนวนทั้งสิ้น 1,513,722 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้น 0.21% ส่วนรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐทุกด้านในปีงบประมาณ 67 มีจำนวนรวมอยู่ที่ 514,000 ล้านบาท ขยายตัว 7.61% จากปีงบประมาณก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 16.15% ของงบประมาณรายจ่าย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่