นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ คนใหม่ เปิด 9 นโยบายสานต่อ ยกระดับชีวิตเกษตรกร

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ คนใหม่ เปิด 9 นโยบายสานต่อ ยกระดับชีวิตเกษตรกร

Date Time: 16 ก.ย. 2567 17:54 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายข้าราชการ สานต่อนโยบายเดิม เพิ่มเติมนำเกษตรกรสู่ความทันสมัยด้วยนวัตกรรม ตั้งเป้าต้องเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้ปีละ 10% ลั่นใช้ประสบการณ์ด้านการตลาดพาสินค้าเกษตรไทยแข่งขันเวทีโลก

Latest


ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อิทธิ ศิริลัทธยากร และอัครา พรหมเผ่า เข้ากระทรวงฯ มอบนโยบายข้าราชการวันนี้ (16 ก.ย.) โดยกล่าวว่า จะสานต่อจากนโยบายเดิม เน้นยกระดับสู่เกษตรทันสมัย ด้วยแนวคิด "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้"

การสานต่อ 9 นโยบายสำคัญ ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย มีดังนี้

1.เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ ได้แก่

  • เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช โดยเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้บริการแบบเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ สามารถรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ขอรับความช่วยเหลือ และส่งต่อเรื่องให้ศูนย์บริการฯ ส่วนกลางได้โดยที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศูนย์บริการฯ
  • ขยายครอบครัวเกษตร บูรณาการงานอย่างเข้มแข็ง การทำงานแบบครอบครัวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มแข็ง โดยขยายความร่วมมือในการทำงานแบบบูรณาการกับพี่น้องเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และคนในภาคการเกษตร
  • สานต่อภารกิจการกำกับดูแลสินค้าเกษตร ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยผลักดันกลไก MR. สินค้าเกษตร ให้ทำงานแบบเชิงรุก รับฟังและเตรียมการแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้าได้ถูกจุดตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

2.เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร ขยายผลการยกระดับเอกสารสิทธิให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร รวมถึงพัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และสามารถแปลงสินทรัพย์ในที่ดินให้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างรายได้และความยั่งยืนให้กับเกษตรกร

3.บริหารจัดการน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อการเกษตร รวมถึงบริหารจัดการทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเติมน้ำในเขื่อน

4.ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ด้วยการต่อยอดโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอ โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

5.ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง ได้แก่

  • ส่งเสริมการทำธุรกิจสหกรณ์การเกษตรให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และนำแหล่งทุนมาต่อยอดธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร
  • ส่งเสริมเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร โดยเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรมีเครื่องมือ เครื่องจักรกลของตนเอง เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองและพร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

6.จัดการทรัพยากรทางการเกษตร ได้แก่

  • ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย BCG โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับนโยบาย/มาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลก เช่น EUDR, CBAM และ Carbon Credit โดยทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การลดการเผาซังข้าว/ตอซัง การกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ถูกต้อง การลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย การเกษตรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการแก้ปัญหา PM 2.5 การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ในการผลิตพลังงาน
  • ส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการผลิต (Agri-Map) รวมถึงฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน

7.รับมือกับภัยธรรมชาติ ต้องมีการวางแผนและมีมาตรการเชิงรุก เพื่อรับมือตั้งแต่การป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด เช่น มาตรการเยียวยาและ/หรือมาตรการฟื้นฟูสำหรับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น

8.สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน โดยดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจสอบสต็อกสินค้าเกษตรในประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ และควบคุมการนำเข้า/ป้องกันการกักตุน/เก็งกำไร โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ผลผลิตออกสู่ตลาด

9.อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร ได้แก่

  • พัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร เพื่อเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร
  • ผลักดันนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยต้องใช้กลไกความร่วมมือจากภาคเอกชน/ผู้ประกอบการ รวมถึงทูตเกษตร ในการขยายตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้นวัตกรรมมาเป็นจุดขายสินค้าเกษตรผ่านแอปพลิเคชันทั้งออนไลน์และออฟไลน์

พร้อมกับระบุว่า นโยบายหลักๆ ของรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรอยู่ 3 นโยบาย เช่น การส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรม, การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกร จะยกระดับที่ดิน ส.ป.ก. สู่ "โฉนดเพื่อการเกษตร" เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปแปรเป็นทุนหมุนเวียนการทำเกษตรได้ และการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องเร่งแก้ไขทั้งในระยะสั้นและวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย โดยจะมีการหารือกับนายกรัฐมนตรี เตรียมตั้งศูนย์ดำเนินการแก้ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ต้องเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรอยู่ประมาณ 29 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ครัวเรือนละประมาณ 81,000 บาทเท่านั้น จึงตั้งเป้าต้องเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้ปีละ 10%

สำหรับการแบ่งงานรับผิดชอบให้กับรัฐมนตรีช่วยฯ ได้การหารือบ้างแล้ว แต่ต้องรอเคาะความชัดเจนก่อน ก็จะเป็นการทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ยังบอกว่า ส่วนตัวเองมีประสบการณ์ด้านการตลาดมาก่อน ก็จะเข้าไปดูเรื่องการตลาดนำการผลิตเป็นหลัก ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ก็คงจะนำเสนอเรื่องสถานการณ์น้ำเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และต้องเตรียมมาตรการในการเยียวยาด้วย ซึ่งได้สั่งให้ทุกกรมฯ ที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแล้ว

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ