เศรษฐกิจไม่ดี การเมืองสิ้นหวัง คนไทยจ่อย้ายประเทศพุ่ง  1.5 ล้านคน มีสหรัฐฯ เป็นจุดหมาย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจไม่ดี การเมืองสิ้นหวัง คนไทยจ่อย้ายประเทศพุ่ง 1.5 ล้านคน มีสหรัฐฯ เป็นจุดหมาย

Date Time: 11 ก.ย. 2567 09:17 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • 10 ปีแห่งความสิ้นหวัง เศรษฐกิจโตต่ำ วังวนเกมส์การเมือง ผลักคนไทยอยากย้ายประเทศพุ่ง 1.5 ล้านคน คนอยากย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า ซ้ำเติมวิกฤติสังคมสูงวัย กดดันผลิตภาพเศรษฐกิจ

Latest


ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทย กำลังเผชิญกับ “ความเสี่ยง” รอบด้าน ทั้งปัจจัยภายนอก จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และปัจจัยภายในประเทศ ขีดความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอยลงทุกด้าน จากปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงปัญหา Megatrend ทั่วโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย และความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ ในไทยอยากย้ายประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

Thairath Money สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายในหัวข้อ Macro Perspective on National Development ในงาน ACMA Business Forum 2024 “Shaping Tomorrow: Exploring the Intersections of Aging Society, Economic Dynamics and Innovation” ซึ่งจัดโดยนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (สวตท.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปตามโครงสร้างประชากร โดยในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 80 ปี จากอายุ 55 ปี เมื่อปี 1961 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลกทำให้กลุ่มคน Centenarian ที่อยู่มานานเกิน 100 ปีเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีคนกลุ่มนี้ประมาณ 9 ล้านคน และอีกประมาณ 1 แสนคนมีอายุระหว่าง 90-99 ปี สะท้อนว่าประเทศไทยไม่ได้ก้าวสู่สังคมสูงวัย แต่เป็นสังคมที่คนอายุยืนมากขึ้นด้วย

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ถ้าคนรุ่นใหม่ตัดสินใจไม่มีลูกมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอีก 50 ปี จำนวนประชากรไทยจะเหลือเพียง 30 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งช่วง 2-3 ปีมานี้ อัตราการตายของคนไทยแซงหน้าอัตราการเกิดไปแล้ว และซ้ำร้ายไทยยังเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่แก่ก่อนรวย จึงเป็นเหตุผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงกว่าระดับศักยภาพ

โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มคนสูงวัยและกลุ่มคนหนุ่มสาว โดยผู้สูงอายุต้องการสวัสดิการรองรับชีวิตหลังเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการด้านสุขภาพหรือเงินบำเหน็จบำนาญ และมีความกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากมีเงินเก็บแต่ไม่มีรายได้ ในขณะที่กลุ่มคนหนุ่มสาวกังวลเรื่องปัญหาการว่างงาน และต้องการการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมีลูก

ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน กลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันเสียงเรียกร้องจากคนรุ่นใหม่ที่ไม่ถูกรับฟัง ก็ผลักดันให้เกิดกระแสย้ายประเทศ

ไทยเศรษฐกิจโตต่ำ การเมืองสิ้นหวัง คนอยากย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า

Gallup บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำในสหรัฐฯ ได้สำรวจความเห็นของผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปในไทย ถึงความต้องการย้ายประเทศ ถ้าเลือกได้และไม่มีข้อจำกัดอยากใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่ใด พบว่า ในช่วงปี 2021-2023 ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู่รัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน มีคนอยากย้ายออกจากประเทศไทย มากกว่าย้ายเข้าเพิ่มขึ้นเกือบ 900,000 คน โดยมีคนต่างชาติอยากเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย 626,000 คน ส่วนคนไทยอยากย้ายออกถึง 1.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงปี 2010-2012 ที่มีคนต่างชาติอยากเข้ามาอาศัยในไทย 164,000 คน ขณะที่คนไทย อยากย้ายไปอาศัยในต่างประเทศ 168,000 คน ทำให้ส่วนต่างระหว่าง คนอยากย้ายออกกับคนย้ายเข้าประเทศไทย อยู่ที่ 4,000 คนเท่านั้น

โดยคนไทยที่อยากย้ายประเทศส่วนใหญ่ เลือกสหรัฐอเมริกาเป็นจุดหมายอันดับ 1 อย่างไรก็ตามแม้กระแสการย้ายประเทศจะรุนแรงขึ้นหลังโควิด ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมือง แต่ก็มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถย้ายประเทศได้สำเร็จ

ทั้งนี้โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่ต้องเร่งแก้คือ ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนไป ทำอย่างไรให้คนอยากอาศัยและขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่ต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม และต่อยอดด้วยนวัตกรรม

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์