“สุริยะ” พร้อม 2 รัฐมนตรีช่วยฯ ถือฤกษ์ 10 ก.ย.นี้ เวลา 11.00 น. เข้ากระทรวงคมนาคม เดินเครื่องโปรเจกต์คมนาคม-สานต่อนโยบาย พร้อมสั่งตั้งคณะทำงานเร่งทุกขั้นตอนดันรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสายให้ทัน ก.ย.68 ลุยคลอดกฎหมาย ชี้ 2 ปี คาดใช้เงิน 1.6 หมื่นล้าน มั่นใจทุกงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจหนุนท่องเที่ยว–การค้า–การลงทุน ยันทุกขั้นตอนโปร่งใสและตรวจสอบได้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันนี้ (10 ก.ย.67) เวลา 11.00 น. ตนพร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม มีกำหนดการเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงคมนาคมอย่างเป็นทางการ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานนั้นจะเดินหน้าสานต่อโครงการ และนโยบายที่สำคัญของกระทรวงคมนาคมที่ได้ดำเนินการครั้งเมื่อตนเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อให้โครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง พร้อมสนับสนุนภาคโลจิสติกส์ของไทยในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าต่อเนื่องและไม่สะดุด
นอกจากนั้นได้เตรียมตั้งคณะทำงาน เพื่อเร่งรัดทำรายละเอียดต่างๆที่จะทำให้นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นได้จริง กับรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทุกสีทุกสายตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.68 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน หลังจากก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.66 คมนาคมได้นำร่องมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าแล้ว 2 สาย ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ซึ่งปริมาณผู้โดยสารทั้ง 2 สายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การมีคณะทำงานและมอบหมายแบ่งกันติดตามดูแลรายละเอียดในแต่ละเรื่องว่าติดตรงไหน อย่างไร จะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น อาทิ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและการจัดหาเงินเข้ากองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม สิ่งเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะร่างกฎหมายตั๋วร่วม ต้องพยายามผลักดันให้มีผลบังคับใช้ก่อนเดือน ก.ย.68 เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุน และลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม ซึ่งเวลานี้การผลักดันร่างกฎหมายอาจล่าช้าไปประมาณ 1 เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่า กว่ากฎหมายแต่ละฉบับจะมีผลบังคับใช้ได้ ต้องผ่านหลายกระบวนการ ทั้งการตรวจร่างกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ซึ่งจากที่ตนประสานข้อหารือกับ สคก. ระบุว่าต้องใช้เวลาตรวจ 4 เดือน โดยตนเกรงว่าจะช้าเกินไป และไม่ทันกับเป้าหมายที่วางไว้ ทาง สคก.ก็รับจะช่วยเร่งรัดในการดำเนินการให้ ขณะเดียวกันต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และประกาศใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวต่อไป
“มั่นใจว่าจะดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าทุกสีได้ภายในเดือน ก.ย.68 ตามที่ได้เคยประกาศไว้ ทั้งนี้ จากการสอบถามกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พบว่า หากดำเนินมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายตั้งแต่เดือน ก.ย.68 จนครบวาระรัฐบาล ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2 ปี ต้องใช้เงินสนับสนุนมาตรการดังกล่าวปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือ 2 ปี ประมาณ 16,000 ล้านบาท เบื้องต้นเงินที่จะสมทบเข้ากองทุนฯตั๋วร่วม จะนำเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มาสมทบเข้ากองทุนฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยทาง รฟม. ก็ยินดี”
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะหาเงินสมทบจากแหล่งเงินอื่นด้วย อาทิ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินสมทบเข้ากองทุนฯตั๋วร่วม ไม่น่ามีปัญหา โดยเงินในส่วนของ รฟม. ทางกระทรวงคมนาคมได้ตรวจสอบกับ สคก.แล้วว่าสามารถดำเนินการได้ แต่จะมีปัญหาว่าหากร่างกฎหมายตั๋วร่วมยังไม่ประกาศใช้ จะไม่สามารถนำเงิน รฟม.มาใช้สนับสนุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ จะใช้เงินดังกล่าวได้กับรถไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม.เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีคณะทำงาน เพื่อเข้าไปเร่งรัดในรายละเอียดต่างๆทุกจุดให้กฎหมายประกาศใช้โดยเร็ว หากพบว่ายังมีปัญหาจุดใด ตนจะได้เข้าไปช่วยเร่งรัดและแก้ไข.