น้ำท่วมทุบเศรษฐกิจเสียหาย 6 พันล้าน หอการค้าแนะรัฐเตรียมแผนรับมือลดความเสียหายประชาชน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

น้ำท่วมทุบเศรษฐกิจเสียหาย 6 พันล้าน หอการค้าแนะรัฐเตรียมแผนรับมือลดความเสียหายประชาชน

Date Time: 30 ส.ค. 2567 08:59 น.

Summary

  • หอการค้าไทยประเมินน้ำท่วมทำเศรษฐกิจเสียหาย 4-6 พันล้านบาท แนะรัฐเตรียมแผนรับมือ ลดความเสียหายประชาชน-เศรษฐกิจ จับมือบริษัทรายใหญ่จัดมาตรการเยียวยาและลดภาระในพื้นที่น้ำท่วม

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

หอการค้าไทยประเมินน้ำท่วมทำเศรษฐกิจเสียหาย 4-6 พันล้านบาท แนะรัฐเตรียมแผนรับมือ ลดความเสียหายประชาชน-เศรษฐกิจ จับมือบริษัทรายใหญ่จัดมาตรการเยียวยาและลดภาระในพื้นที่น้ำท่วม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา สุโขทัย ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน พิษณุโลก และนครสวรรค์ว่า หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีน้ำท่วมในภาคเหนือ เบื้องต้น 4,000-6,000 ล้านบาท หรือ 0.02-0.03% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ยังคงต้องติดตามและประเมินผลกระทบอีกครั้ง เพราะหลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มเติมอีก

สำหรับความเสียหายดังกล่าว พบว่าภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม โดยในระยะ สั้นหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การสั่งการและมอบหมายนโยบายข้ามกระทรวง เกิดการบูรณาการการทำงานอย่างคล่องตัว และต้องเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ตลอดจนปริมาณฝน ที่คาดว่าจะตกหลังเขื่อนในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้

“หากรัฐบาลมีแผนป้องกันล่วงหน้า ก็จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก ในส่วนของหอการค้าไทย โดยมูลนิธิพาณิชย์สงเคราะห์ได้เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศ พร้อมส่งมอบเงินผ่านหอการค้าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจัดหาสิ่งของที่จำเป็นแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ ส่วนหลังน้ำลด ก็ต้องช่วยซ่อมแซม และฟื้นฟู สิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคที่เสียหายด้วย”

ดังนั้น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง จัดแคมเปญลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง อาทิ ไทวัสดุ ลดราคาสินค้าในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซม-ตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ร่วมรายการ, กลุ่มอุปโภคบริโภค ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นกว่า 16,000 รายการ อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ กระดาษทิชชู ยาสระผม แปรงสีฟัน ผ้าอนามัย ฯลฯ และยังล็อกราคาสินค้าอีกกว่า 4,000 รายการ

นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับโตโยต้าสำหรับซ่อมแซมยานพาหนะ, เอสซีจีสำหรับการซ่อมแซมและวัสดุก่อสร้าง, สยามคูโบต้ามอบส่วนลดค่าแรง น้ำมันเครื่อง และอะไหล่ให้กับรถที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติโดยตรง ฯลฯ พร้อมหารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เป็นต้น

ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัย และปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและลุ่มน้ำ ณ วันที่ 29 ส.ค.67 มีพื้นที่การเกษตรด้านพืช ได้รับผลกระทบ 33 จังหวัด และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 21 จังหวัด ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และรายงานพื้นที่การเกษตรประสบภัยพิบัติ พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกร รวมถึงออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย สำหรับการดำเนินการให้ความช่วยเหลือของกรมส่งเสริมการเกษตร กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็นข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท

ขณะที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม จ.น่าน ว่า จ.น่านพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แม้ก่อนหน้านี้จะมีปัญหาอุทกภัย แต่สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดน่านและจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงราย แพร่ และเชียงใหม่ ได้คลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว และสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติแล้ว จึงได้สั่งการให้หน่วยงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดในทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เร่งประชาสัมพันธ์ไปยังสมาคมผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ