นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยหลังปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “PRACHACHAT ESG FORUM : Time for Action : พลิกวิกฤติโลกเดือด”วานนี้ (22 ส.ค.67) ว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% นั้น เป็นมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งการจะปรับลดหรือไม่ลด เป็นตัวชี้วัดของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
“สิ่งสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะแปรไปเป็นดอกเบี้ยของประชาชน และร้านค้าที่ต้องจ่าย เป็นสิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่า เพราะดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% แต่สถาบันการเงินนำมาคิดอัตราดอกเบี้ยรายย่อยเฉลี่ย 7% มันเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งคิดว่าผู้กำกับดูแลจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และต้องไปดูกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาให้เกิดความเหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยอ้างอิงลูกค้ารายย่อยสูงเกินไปหรือไม่ เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมอง โดยส่วนตัวมองว่า ส่วนต่างของต้นทุนของสถาบันการเงิน เมื่อเทียบอัตราดอกเบี้ยต่างกันมาก ถ้าเป็นรายใหญ่ต่ำมาก รายกลางสูงจากรายใหญ่ แต่ถ้าเป็นรายย่อยส่วนมากอัตราดอกเบี้ยจะสูงมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะสถาบันการเงินก็อาจมองว่า กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ขอฝากให้ไปพิจารณาเรื่องส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยด้วย
นายพิชัยกล่าวถึงปัญหาโลกเดือดว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาจัดทำตลาดกลางคาร์บอนเครดิตขึ้นมา ซึ่งจัดทำเป็นแพลตฟอร์มให้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาราคาของคาร์บอนเครดิตได้ด้วย โดยพิจารณาจากราคาตลาดโลก ตลาดเพื่อนบ้าน อุปสงค์อุปทาน ถ้าความต้องการมาก ราคาก็จะปรับขึ้น ขณะนี้ราคาตลาดโลกอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อตันคาร์บอนเครดิต ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 34 เหรียญสหรัฐฯต่อตันคาร์บอนเครดิต แต่หลังจากนี้สิงคโปร์ก็จะปรับราคาขึ้นไปในอนาคตอีก เนื่องจากเป็นผู้นำเข้าคาร์บอนเครดิต เพราะไม่มีพื้นที่ปลูก ฉะนั้นอาจเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเป็นผู้ส่งออกคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต
“ไทยจะต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาคำนวณราคา ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความยากอยู่ตรงที่การจะนำผู้ประกอบการขนาดใหญ่ กลาง เล็ก คนทั่วไป เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคาร์บอนเครดิต โดยรัฐบาลมีหน้าที่จะต้อง สร้างความเข้าใจให้ประชาชน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดเรื่องการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อมที่ต้องเร่งทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องคาร์บอนเครดิต”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่