ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลก หรือ World Bank จัดให้ ไทยอยู่ในกลุ่ม “ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน” (upper middle income) เช่นเดียว เหมือนกับ ทุกๆ ปี ร่วมกับประเทศเพื่อน ในอาเซียนด้วยกัน อย่าง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ซึ่งนับเป็น สถานะคงที่ ตั้งแต่ปี 2554 ที่ World Bank รับรองให้ไทย ก้าวมาอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เท่ากับ เป็นเวลาราว 13 ปีแล้ว ที่ไทยยืนอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่เปลี่ยน
แต่ข้อเท็จจริงอีกแง่ คือ ไทยเราถูกแปะป้าย ด้วยคำว่า “ประเทศรายได้ปานกลาง” มานานมากกว่า 20 ปี แล้ว เนื่องจาก รายได้ต่อหัวประชากรต่อปี ยังไม่หลุดเกณฑ์ 13,845 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 487,000 บาทต่อปี
ล่าสุด ในเนื้อหา หัวข้อ : ทักษะแรงงานในโลกการทำงานยุคใหม่…เราต้องทำอย่างไรเพื่ออยู่รอดในอนาคต? ของหนังสือเศรษฐศาสตร์ …เล่มเดียวอยู่ ซึ่งจัดทำเผยแพร่สาธารณะ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
มีการกล่าวถึงความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ในยุคหน้า พร้อมกับตอบคำถามคาใจที่ว่า อีกนานไหม? ไทยจะหลุดกับดัก "ประเทศรายได้ปานกลาง"
โดยในรายละเอียดระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย กำลังเผชิญกับ “เทคโนโลยีดิสรัปชัน” ทำให้ แรงงานไทย หรือ ผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
อีกทั้ง อย่างที่รู้กัน “โรบอต-เอไอ” หรือเจ้าหุ่นยนต์-ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ระบบสมองกล เช่น ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หุ่นยนต์ที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุ นอกจากจะทำให้เราใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นแล้ว ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์หรือมาทำงาน ร่วมกับมนุษย์มากขึ้น ขณะเดียวกันเราเห็นเทรนด์การเติบโตของ “Gig Economy” ซึ่งคือ ระบบเศรษฐกิจที่ผู้ทำงานรับงานเป็นครั้งๆ มีความเป็นอิสระและไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำของบริษัท หรือที่เรียกคนทำงานอาชีพอิสระนี้ว่า “ฟรีแลนซ์ (freelance)”
ส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ซึ่งแม้จะสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตทำให้ทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา และเน้น “การใช้ชีวิตไปด้วยและทำงานไปด้วย” แต่แรงงานกลุ่มนี้จะมีรายได้ที่ไม่แน่นอน รวมถึงขาดสวัสดิการและรายได้ในยามเจ็บป่วย
ขณะที่ ภาวะตลาดแรงงานไทยเอง ปัจจุบันก็มีแรงงานนอกระบบถึงกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มี หลักประกันทางสังคม ส่วนใหญ่มีการศึกษาและผลิตภาพน้อย หรือก็คือจำนวนผลผลิตที่แรงงาน 1 คนผลิตได้น้อยและมีรายได้ต่ำ เมื่อเทียบกับแรงงานที่อยู่ในระบบ
ยิ่งไปกว่านั้นเป็นที่น่าตกใจว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานไทยแทบไม่เติบโต หรือ อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม มิหนำซ้ำ กำลังแรงงานไทยก็ลดลงจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประเมินว่า หากแรงงานยังไม่ปรับปรุงผลิตภาพให้ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลา 30 ปีหรือมากกว่า ในการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางเพื่อกลายเป็นประเทศรายได้สูง จึงเป็นความท้าทายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ทั้งนี้ กุญแจที่จะทำให้แรงงานไทยเป็น “แรงงานแห่งอนาคต” พร้อมรับมือกับคลื่นเทคโนโลยีดิสรัปชันได้ คือ การยกระดับและพัฒนาทักษะแรงงาน (upskill & reskill) หรือการพัฒนาทักษะที่มีอยู่เดิมให้แข็งแกร่งมากขึ้นนำมาปรับในบริบทใหม่ ที่เกิดขึ้น
รวมถึง การเพิ่มทักษะใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ทักษะด้านการทำงานร่วมกับเครื่องจักรที่ควบคุมด้วยโปรแกรม เอไอ ซึ่งหลายองค์กรในสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศพยายามหาทางออกกับเรื่องนี้ มุ่งมั่นให้พนักงานต้องผ่าน การฝึกอบรม reskilling และ upskilling เพื่อปิดช่องว่างทักษะในปัจจุบัน และพัฒนาการศึกษาสำหรับอนาคต เห็นได้ชัดว่าการปรับ ทักษะมีความสำคัญอย่างมากในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชัน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน โลกจัดกลุ่มประเทศต่างๆ เป็น 4 กลุ่ม ด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง และกลุ่มประเทศรายได้สูง
ขณะ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2561-2580 รัฐบาลในยุคก่อนหน้า เคยวาดฝันให้คนไทย ว่าก่อนจบแผนดังกล่าว ประเทศไทยจะเป็นประเทศรายได้สูงให้ได้
โจทย์และเป้าหมายสูงสุดของทุกรัฐบาล ที่ต้องผลักดัน คือ การเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้ค่าเฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศถูกดึงขึ้น ซึ่งวิธีการ คือ การทำให้ แรงงานไทยมีผลิตภาพมากขึ้น นั่นเอง
ที่มา : World Bank ,ธปท.
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney