ฟื้นเศรษฐกิจเร่งด่วน โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ เอกชนจี้ดูแลปากท้อง-ดึงเงินลงทุน-เร่งเบิกจ่ายงบ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ฟื้นเศรษฐกิจเร่งด่วน โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ เอกชนจี้ดูแลปากท้อง-ดึงเงินลงทุน-เร่งเบิกจ่ายงบ

Date Time: 19 ส.ค. 2567 07:36 น.

Summary

  • ประเทศไทยของเราก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คนที่ 31 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเศรษฐกิจ ทั้งภาคการเงินการคลัง ภาคอุตสาหกรรมการค้าขาย และตลาดทุน ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่คนไทยทั้งประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งข้อเสนอมาตรการต่างๆที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้นายกรัฐมนตรีของไทยคนใหม่เห็นภาพรวมของ “งานหนัก” ที่รออยู่ชัดเจนขึ้น

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

ถือเป็นการเดินเกมการเมืองที่รวดเร็วอย่างยิ่งของ “พรรคเพื่อไทย” เพราะเพียงเวลาแค่ 2 วันเท่านั้น หลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี

ประเทศไทยของเราก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คนที่ 31 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศ นายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุด และกำลังจะกลายเป็น “ความหวัง” ที่จะเห็นพลังและแนวคิดของคนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนบริหารประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา อย่างหนัก

วันนี้คนไทยส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาปากท้อง รายได้ไม่พอ ใช้จ่าย ขณะที่การทยอยปิดกิจการของโรงงาน และ SME ที่เป็นผู้ประกอบการไทย จากปัญหาสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพ่ายแพ้ต่อสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดสินค้าไทย ซ้ำเติมให้ภาคแรงงานของไทยยิ่งประสบความยากลำบากมากขึ้น จึงต้องการมาตรการจากภาครัฐเติมเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

และในระหว่างที่คนทั้งประเทศกำลังรอการฟอร์มรัฐบาลใหม่ของ “นายกฯอุ๊งอิ๊งค์” และรอการตัดสินใจว่าจะต้องรื้อ โละ หรือจะดำเนิน “นโยบายเศรษฐกิจ” ต่างๆที่รัฐบาลเศรษฐาได้วางแนวทางไว้ต่อหรือไม่ และอย่างไร

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเศรษฐกิจ ทั้งภาคการเงินการคลัง ภาคอุตสาหกรรมการค้าขาย และตลาดทุน ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่คนไทยทั้งประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งข้อเสนอมาตรการต่างๆที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้นายกรัฐมนตรีของไทยคนใหม่เห็นภาพรวมของ “งานหนัก” ที่รออยู่ชัดเจนขึ้น

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

การที่มีนายกรัฐมนตรีได้เร็ว และน่าจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเร็วๆนี้ ทำให้ประเทศไม่เกิดสุญญากาศ ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของไทยให้กลับมาได้เร็ว ส่วนการที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง มีอายุน้อย เป็นคนรุ่นใหม่ น่าจะช่วยสร้างจุดแข็งให้กับประเทศไทยได้

นอกจากนี้ จากการฟังที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 พูดว่า จะทำงานเป็นทีม และฟังซึ่งกันและกัน เชื่อว่าจะทำให้การทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลมีเอกภาพ ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ในทุกด้าน ก็จะทำให้การทำงานของ ครม.ชุดใหม่ มีเอกภาพ และเสถียรภาพ ขณะที่ภาคเอกชนก็พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าต่อไป

“สิ่งสำคัญสุดคือพรรคร่วมรัฐบาลต้องทำงานอย่างมีเอกภาพ ดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนเป็นหลัก การทำงานของรัฐบาลก็ต้องฟังเอกชน และทำงานร่วมกันไป หอการค้าไทย มีหอการค้าอยู่ในทุกจังหวัด และยังมีผู้ประกอบการรุ่นเก่า ที่เรียกว่า รุ่นใหญ่ และรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ ความเข้าใจ เทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม สิ่งแวดล้อม ถ้าเราทำงานร่วมกันเป็น Connect the Dot ก็จะสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยได้”

สำหรับมุมมองด้านเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการการฟื้นตัวอย่างเร่งด่วน จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่แข็งค่ามากเกินไป ซึ่งจะเอื้อต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังต้องรักษาโมเมนตัมภาคการท่องเที่ยว ที่โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเดือนละ 3 ล้านคน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปีนี้ที่ 37 ล้านคน โดยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ดูแลความปลอดภัย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการ รณรงค์ “เมืองน่าเที่ยว” เพื่อให้การท่องเที่ยวโดดเด่นและเกิดการกระจายตัว กระจายรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักไปสู่เมืองน่าเที่ยว และเดินหน้าแผนการกระจายการลงทุนไปจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ที่หอการค้าไทยได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลมาในช่วงก่อนหน้านี้ต่อไป

พร้อมกับเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ เพื่อให้การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวได้ถึง 2% เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และจัดทำงบประมาณปี 68 ให้เสร็จสิ้นในกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อ แก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน ลดค่าครองชีพ แก้ปัญหาราคาพลังงาน โดยออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กันไป

อีกเรื่องที่เดือดร้อน คือ SME เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และได้รับผลกระทบจากสินค้าต่างประเทศทะลักเข้ามา ทำให้รายเล็กไม่มีที่ยืน จึงควรมีมาตรการปกป้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดือดร้อน สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ แก้ปัญหาที่ล้าสมัย สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

“ประเด็นต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข รวมถึงต้องวางกลยุทธ์สำหรับประเทศ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี จากหลายปีที่ผ่านมา เติบโต เฉลี่ย 2% ต่ำกว่าศักยภาพ และไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ”

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

การที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้เร็วในเวลาเพียง 3 วัน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาตัดสินให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ภาคเอกชนต้องขอชื่นชมภาคการเมืองที่ช่วยกันทำให้ไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และช่วยกู้ความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้ระดับหนึ่ง

แต่สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นและให้ความสำคัญในเวลานี้ คือ การเร่งแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ให้เสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อเข้ามาแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ในเวลานี้มีความท้าทายรอบด้าน อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังกดดัน ต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ครม. ชุดใหม่ จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และต่อยอดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย

“วันนี้สิ่งที่อยากให้นายกฯท่านใหม่เร่งดำเนินการในระยะสั้น คือ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ, การดูแลต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ เช่น ค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าโลจิสติกส์ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น, ชะลอการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไปเป็นปีหน้า เพื่อลดผลกระทบด้านต้นทุนของ SME, มาตรการช่วยเหลือ SME ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ”

รวมถึงเร่งออกมาตรการปกป้องการทุ่มตลาดจากสินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และบูรณาการการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ประยุกต์ใช้มาตรการการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เหมาะสมกับประเทศเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งข้อเสนอเร่งด่วนเหล่านี้ จะช่วยฟื้นกำลังซื้อให้ประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตตามศักยภาพ

ส่วนสิ่งที่นายกฯจะต้องเร่งดำเนินการในระยะยาวเพื่อวางรากฐานทางด้าน เศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างยั่งยืนในอนาคต ได้แก่ 1.ปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจทั้งระบบ สร้างเครื่องยนต์ใหม่ๆที่ช่วยขับ เคลื่อนเศรษฐกิจ ในอนาคต โดย เฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) โดยมีเป้า หมายเพิ่มรายได้ให้กับประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจอย่างยั่งยืน

2.ปฏิรูประบบการศึกษาและพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรอย่างมีคุณภาพ

3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโครงข่ายคมนาคมโลจิสติกส์ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต และการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ สร้างแต้มต่อด้านการค้าผ่านการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการหาตลาดที่มีศักยภาพมารองรับสินค้าส่งออกของไทย

ขณะเดียวกัน ยังต้องปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และทำให้สภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจในไทยสะดวกมากยิ่งขึ้น เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อสร้างโอกาสของประเทศที่จะสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

“สภาอุตสาหกรรมพร้อมทำงานร่วมกับทุกรัฐบาล และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนนำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันในการสร้างประเทศไทยที่เข้มแข็ง และขอให้จัดตั้ง ครม.ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติ”

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย

“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังค่อนข้างน่ากังวล เพราะเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังอ่อนแอและจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ภาคท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีและเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่ภาคท่องเที่ยวก็ไม่สามารถช่วยอุ้มเศรษฐกิจทั้งระบบได้”

ด้านการส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวและกลับมาขยายตัวในปีนี้ เป็นผลพวงจากวงจรการค้าโลกที่กลับสู่ขาขึ้น คืออีกตัวช่วยสำคัญ แต่ก็ยังขยายตัวได้ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ เพราะการแข่งขันที่สูง ที่สำคัญการบริโภคของประชาชนซึ่งขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อาจสะดุดลงได้เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ค่อนข้างมาก รวมทั้งการลงทุนจากภาคธุรกิจในประเทศก็อาจชะลอลงด้วย ถ้าภาวะสุญญากาศทางการเมืองลากยาว

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการลงทุนตรงจากต่างประเทศ ที่อดีตนายกฯเศรษฐาให้ความสำคัญมากๆ และได้เดินทางไปเจรจาด้วยตัวเองหลายครั้ง อาจได้รับผลกระทบ เพราะนักลงทุนต่างประเทศ อาจชะลอการตัดสินใจ และรอดูความชัดเจนของนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น ควรจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อรักษาทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจกลับไปทรุดตัวอีกครั้ง

และระหว่างที่รอการจัดตัว ครม.ชุดใหม่ คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องผลักดันให้มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณด้านการลงทุนของปี 67 ที่เหลืออยู่อีก 400,000 กว่าล้านบาทให้เร็วที่สุดและมากที่สุด ซึ่งถ้าทำได้ก็จะช่วยรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลใหม่ต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สามารถทำได้เร็ว ตรงเป้าหมาย ใช้เงินงบประมาณ อย่างไม่สิ้นเปลือง และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมได้จริง โดยอาจเลือกใช้นโยบายที่เคยทำสำเร็จแล้วในอดีต เช่น โครงการคนละครึ่ง ควบคู่ไปกับการใช้นโยบายแจกเงิน โดยปรับรูปแบบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ใช้งบประมาณน้อยลง แจกเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นเท่านั้น และควรใช้โอกาสนี้ทบทวนบางนโยบายที่ริเริ่มโดยรัฐบาลที่แล้ว แต่อาจยังไม่ตอบโจทย์ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นต้น

“รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องสานต่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ รวมทั้งเร่งกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจทันสมัย เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาแข่งขันได้ และขยายตัวได้ในระดับ 3-4% ในระยะยาว”

ในส่วนของตลาดทุน อยากให้รัฐบาลใหม่สานต่อกองทุน Thai ESG และกองทุนวายุภักษ์ ที่ผลักดันโดยรัฐบาลที่แล้ว และในอนาคตอยากให้สนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนเพิ่มเติม โดยใช้แนวทาง Individual Saving Accounts แบบที่ใช้กันในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ ที่ให้ผู้ลงทุนเลือกลงทุนในตราสารทางการเงินหลากหลายประเภท รวมทั้งลงทุนตรงในหุ้นรายตัวในตลาดหุ้น และนำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ในช่วงนี้ แม้ตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ SET Index ระดับนี้ถือว่าต่ำกว่ามูลค่าทางพื้นฐานมาก โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับลงแรงมีไม่มาก หุ้นที่น่าสนใจช่วงนี้ คือ หุ้นประเภท Defensive เช่น โรงพยาบาล โทรคมนาคม และผลิตสินค้าบริโภคที่จำเป็น และหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของกองทุน Thai ESG

“หลังพ้นช่วงสุญญากาศทางการเมือง เชื่อว่าตลาดหุ้นจะกลับมาสู่ขาขึ้นได้ โดยได้แรงสนับสนุนหลักจากการลดดอกเบี้ยของเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) และอีกหลายธนาคารกลาง รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีโอกาสลดดอกเบี้ยเช่นกัน ซึ่งจะเกิดความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่เริ่มสูงขึ้น”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ