“ฐาปนีย์” เปิดกลยุทธ์การตลาดปี 2568 บอกเล่าเรื่องราว “เสน่ห์ไทย” เมืองน่าเที่ยว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ฐาปนีย์” เปิดกลยุทธ์การตลาดปี 2568 บอกเล่าเรื่องราว “เสน่ห์ไทย” เมืองน่าเที่ยว

Date Time: 12 ส.ค. 2567 05:35 น.

Summary

  • “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการ ททท.ในฐานะแม่ทัพ ที่จะพาองคาพยพในองค์กรไปประสานกับพันธมิตรทั่วโลก ได้ให้สัมภาษณ์ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ในฐานะการท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมแห่งความหวัง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

Latest

เจ้าหนี้การบินไทยขอเลื่อนโหวตแผนฟื้นฟู

เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นกลไกหลักในการหารายได้เข้าประเทศ ในปี 2568 “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เป็นปี Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025 เพื่อประกาศชักชวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เดินทางมาประเทศไทย ในปีหน้าจึงจะมีอีเวนต์ต่างๆที่คึกคักเป็นพิเศษ

เพื่อขานรับต่อนโยบายนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้วางแผนสำหรับปีหน้า พร้อมประกาศทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวในปี 2568 ออกมาเรียบร้อย โดยจะเริ่มลงมือปฏิบัติตั้งแต่เดือน ต.ค.2567 เป็นต้นไป

เนื้อหา แนวทางจะเป็นอย่างไร “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการ ททท.ในฐานะแม่ทัพ ที่จะพาองคาพยพในองค์กรไปประสานกับพันธมิตรทั่วโลก ได้ให้สัมภาษณ์ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ในฐานะการท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมแห่งความหวัง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้

ต้องการนักท่องเที่ยวที่มีเงินและใจ

“ฐาปนีย์” บอกว่า “ภารกิจหลักของ ททท.คือการกระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยว เราต้องการนักท่องเที่ยวที่มีทั้งเงินและใจ”

ความหมาย คือ เงินที่จะสนับสนุนธุรกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และใจที่พร้อมจะเข้าใจ เปิดกว้างยอมรับความแตกต่าง ใส่ใจ ไม่รบกวนธรรมชาติ และช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม

ททท.จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันพันธมิตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ร่วมมือกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ ให้ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว

จากเป้าหมายรายได้ของ ททท. ปี 2567 ที่ 3 ล้านล้านบาท และเป้าหมายรายได้เชิงนโยบายจากรัฐบาลที่ 3.5 ล้านล้านบาท ทำให้ในปี 2568 ททท. ตั้งเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจผลักดันการเติบโตรายได้อย่างต่อเนื่องในอัตราเร่งไม่น้อยกว่า 7.5% ของปี 2567 สูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประเทศไทยปี 2568 ถึง 1.7 เท่า เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกลับไปอยู่จุดสูงสุดอีกครั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยว โดยต้องชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยมากกว่า 39 ล้านคน และกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวทั่วไทยมากกว่า 205 ล้านคน-ครั้ง

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะเพิ่มศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดและลูกค้าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตลอด Tourist Journey ตั้งแต่เริ่มหาข้อมูลตัดสินใจเลือกประเทศไทย เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย และเดินทางกลับ โดยจะวิเคราะห์ทุก Touch Point ให้ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น รวมถึงใช้กลไกอัจฉริยะจาก AI เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมและเป็นประโยชน์

เสน่ห์ไทย : 5 Must Do in Thailand

ปี 2568 ททท. จะยังคงมุ่งขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีพฤติกรรมและแนวโน้มใช้จ่ายสูงเพื่อผลักดันการเพิ่มรายได้ ควบคู่กับการกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวบ่อยครั้งขึ้น กระจายตัวสู่จังหวัดต่างๆอย่างทั่วถึง ตอกย้ำความภาคภูมิใจในความเป็นไทยผ่าน “เสน่ห์ไทย” หรือ Soft Power โดยวางแนวทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์และทำการตลาดไว้ ดังนี้

Must Taste อาหารไทย บอกเล่าที่มาความอร่อยและวิถีการกินของคนแต่ละภาค แต่ละจังหวัด ตั้งแต่วัตถุดิบ การประกอบอาหาร การปรุง การตกแต่ง จากครัวหลังบ้านจนถึงร้านมิชลิน อาหารเป็นยา อาหารที่ทำจากวัตถุดิบอินทรีย์

Must Try มวยไทย เรื่องราวศิลปะการต่อสู้ที่เป็นที่นิยมของคนทั่วโลก รวมถึงกิจกรรมสร้างประสบการณ์และท้าทายกายใจ Must Buy แฟชั่น ผ้าไทย สินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น และงานฝีมือ งานคราฟต์ที่เล่าเรื่องราวชีวิต การสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจของคนไทยผ่านงานศิลปะสาขาต่างๆ ตั้งแต่ผ้าทอจากกี่ใต้ถุนบ้าน เสื้อผ้ามัดย้อมลายเก๋ๆของ Young Designer จนถึง Haute Couture (โอกูตูร์) ฝีมือคนไทย

Must Seek สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ หรือมุมมองและเรื่องราวใหม่ๆในที่เดิมๆ Must See การแสดงทางวัฒนธรรม เทศกาลงานประเพณีทั่วไทยที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเชื่อ ความสนุกสนานรื่นเริงของคนแต่ละท้องถิ่นทั่วไทย

สร้างเมืองไทยเที่ยวได้ตลอดปี

“ฐาปนีย์” กล่าวย้ำว่า ททท.ได้ผลักดันและส่งเสริม “เมืองรอง” มาตั้งแต่ปี 2558 โดยนำเสนอเมืองรองที่มีจุดขายโดดเด่นแบบ Standalone และเชื่อมโยงระหว่างเมืองรอง ผ่านแคมเปญ “12 เมืองต้องห้ามพลาด” “12 เมืองต้องห้ามพลาด Plus” จนถึง “เมืองรองต้องลอง” และ “เปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยวเมืองรองมิรู้ลืม”

ในปีนี้ ภายใต้นโยบาย IGNITE Tourism Thailand ของรัฐบาล “เมืองรอง” ทุกเมืองในประเทศไทย จะเป็น “เมืองน่าเที่ยว” ที่สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

ในปี 2568 ททท.จะสานต่อการส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว โดยใช้ City Marketing ค้นหาจุดขาย พลิกมุมมอง บอกเล่าเรื่องราว “เสน่ห์ไทย” ของแต่ละพื้นที่ สร้างความแตกต่างและโดดเด่น สร้างทางเลือกที่หลากหลาย ภายใต้จุดขายแต่ละภาคเชื่อมโยงกันทั้งภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยเป็น High Season ตลอดทั้งปี

เริ่มจากการท่องเที่ยวเหนือตลอดปี Season of the North สัมผัสเสน่ห์วันวานเมืองเหนือที่ผสมผสานความสร้างสรรค์และความยั่งยืนอย่างลงตัว ผ่านอาหาร งานคราฟต์ และกิจกรรมเพื่อสุขภาพในหน้าหนาว วิถีชีวิตและศรัทธาในหน้าร้อน และผ่อนคลายกับความสดชื่นงดงามของธรรมชาติในหน้าฝน ทำให้ภาคเหนือเที่ยวได้ทุกวัน แล้วไปภาคอีสาน ไปอยู่ในความคึกคักของดนตรี เรียนรู้คู่ความอร่อยของอาหารถิ่น ผ่าน Gastronomy Tourism และเทศกาลประเพณีที่บ่งบอกวิถีชีวิตให้ทุกคนได้หลงรัก แผ่นดินถิ่นอีสาน

จากนั้นไปสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งวัฒนธรรม นวัตกรรมและวัฒนธรรมร่วมสมัยของจังหวัดลุ่มแม่น้ำในภาคกลาง และสนุกกับสีสันตะวันออก Colorful Burapha ด้วยกีฬา กิจกรรมกลางแจ้ง แหล่งท่องเที่ยวสุดฟิน อิ่มอร่อยกับผลไม้และอาหารทะเลสดใหม่ สุดท้าย Go South ลงใต้ไปใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ด้วยการเดินทางแบบ Wellcation และ Carbon Neutral Tourism พร้อมดื่มด่ำธรรมชาติสองฝั่งทะเล

ตลาดในประเทศจะมุ่งกระตุ้นความถี่ในการเดินทางของคนไทย ทั้งภายในภูมิภาคและข้ามภูมิภาค กระตุ้นการใช้จ่าย รวมทั้งพยายามดึงคนไทยกลุ่มศักยภาพที่นิยมเดินทางท่องเที่ยว ต่างประเทศในวันหยุดยาว ให้กลับมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้น โดยใช้ Big Events และ Local Festival Experience ดึงดูด ให้คนไทยเที่ยวไทยตลอดปี

เพิ่มตลาด 1 ล้านคน 13 ประเทศ

สำหรับการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ เป้าหมายสูงสุดของ ททท.คือการจับมือเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมไปอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2562 หรือสูงกว่านั้น หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ รัฐบาลไทยได้ประกาศมาตรการยกเว้นวีซ่า 60 วันให้กับอีก 36 ประเทศ รวมเป็น 93 ประเทศ จะจูงใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมาไทยได้ง่ายและบ่อยมากขึ้น

ในปีนี้ ททท.จะมุ่งผลักดันการเติบโตของตลาดศักยภาพ 23 ตลาดทั่วโลกที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยและสร้างรายได้มากกว่า 80% ของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปี 2567 และมีความตั้งใจจะเพิ่มจำนวนตลาด 7 digits หรือ ถึง 1 ล้านคนให้ได้ถึง 13 ตลาดในปี 2568

ดังนั้น ททท.จะสานต่อและผลักดันการเพิ่ม Seat Capacity ทำงานร่วมกับสายการบินต่างๆอย่างใกล้ชิด ผลักดันการเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางบินปัจจุบัน เพิ่มเส้นทางบินใหม่ และขยายระยะเวลาการบิน ทั้งเที่ยวบินปกติและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ รวมทั้งเร่งทำการประชาสัมพันธ์สนามบินที่มีศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินทั้งในประเทศและนานาชาติ เช่น สนามบินอู่ตะเภา สนามบินเพชรหัวหิน

ในการกำหนดแผนการดำเนินงานในตลาดต่างประเทศ ที่เป็นตลาดหลักด้านจำนวน ตั้งแต่ปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) จนถึงปัจจุบัน มีการเติบโตที่สูงกว่า 2 Digits ในเกือบทุกตลาด แต่ตลาดจีนยังฟื้นตัวได้ไม่เท่ากับปี 2562 ดังนั้น ในปี 2568 เพื่อให้การฟื้นตัวของทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดจีนกลับสู่ระดับเดียวกับปี 2562

ททท.จะมุ่งกระตุ้นตลาดด้วย 2 แนวทางหลัก คือ เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีอายุน้อยลง กลุ่ม New Gen ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยในใจลูกค้าอนาคต โดยเฉพาะในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกง ตั้งแต่กลุ่มเด็กเล็กที่มาเที่ยวกับพ่อแม่ เด็กโตที่เดินทางเป็นกลุ่มกับโรงเรียน Gen Z First Jobber ไปจนถึงกลุ่ม Gen Y หรือ Millennial

พร้อมกับกระตุ้นความถี่และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว Sub-segment ศักยภาพ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม Millennials กลุ่มครอบครัว และกลุ่มผู้มีรายได้สูง ผ่านการจัดทำโครงการที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่ม Shopping mania ในตลาดอาเซียน กลุ่มขับรถเที่ยวและกลุ่มท่องเที่ยวทางรถไฟจากมาเลเซีย สิงคโปร์และจีน

ส่งเสริมกลุ่มคาราวานและการเดินทางทางรถไฟจากจีนตอนใต้ ให้เดินทางเข้าไทยทางภาคเหนือและภาคอีสาน พร้อมกันนี้ ส่งเสริม Charter Train จากมาเลเซีย ตลอดจนดึงกลุ่ม Fly & Drive ของสิงคโปร์ให้บินสบายๆมาขับรถเที่ยวทั่วไทย

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2568 จะเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 50 ปี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท.จะร่วมกับรัฐบาลจีน โดยสถานทูตจีนประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เริ่มต้นในวันที่ 17 ก.ย.2567 และต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ตลาดระยะไกลสร้างรายได้สูง

สำหรับตลาดระยะไกล ตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ในปี 2567 เป็นตลาดที่มีแนวโน้มสดใส จากการคาดการณ์ของ ททท.จะสามารถเพิ่มจำนวนและสร้างรายได้ได้สูงกว่าปี 2562 ถึงแม้จะมีสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยทั้งหมด แต่สามารถสร้างรายได้ถึงเกือบ 40% ของรายได้ตลาดต่างประเทศโดยรวม

ททท.จึงมีแนวทางการดำเนินงานหลัก ทั้งปักธงพื้นที่ตลาดใหม่ ขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ Quality Leisure โดยเฉพาะกลุ่ม First Visit ในตลาดสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ยุโรปตะวันตกและบอลข่าน ฝรั่งเศส โมนาโก และเบเนลักซ์ เจาะกลุ่ม New Gen ในตลาดอเมริกาและแคนาดา ที่ใส่ใจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งกลุ่ม Gen Z ที่มองหาประสบการณ์ที่ให้ความหมายกับชีวิต กลุ่ม Millennials ที่ต้องการเจาะลึกวัฒนธรรมท้องถิ่น และ Active Outdoor Experience และกลุ่ม Asian American ซึ่งถือเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพ

กลุ่มไลฟ์สไตล์ที่ใช้จ่ายสูง เช่น กลุ่ม DINKs และ LGBTQIAN+ rainbow economy ที่ร้อนแรงมากในปัจจุบัน ททท.มุ่งเสนอ Luxury Product สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Gastrononny Tourism ธรรมชาติและวิถีชุมชน ให้กับตลาดเยอรมัน สวิส อเมริกา แคนาดา รวมถึงกลุ่ม Wellness & Wellcation ในรัสเซีย และตลาด Luxury ในกลุ่ม 6 ประเทศอาหรับหรือ GCC

ปี 2568 ททท.จะชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำ และไม่ว่าจะเคยเดินทางมาประเทศไทยกี่ครั้ง ทุกครั้งจะยังรู้สึกเหมือนเป็นครั้งแรกเสมอ “Amazing Thailand : Your Stories Never End” เรื่องราวที่มีความหมายและน่าประทับใจจนอยากจะบอกเล่าแบบไม่มีที่สิ้นสุด

สิ่งที่ตระหนักอยู่เสมอ คือ การท่องเที่ยวต้องมีความยั่งยืน ปี 2568 เป็นต้นไป ททท.จะพัฒนาแบรนด์ Amazing Thailand ที่มุ่งสู่ความยั่งยืน กระตุ้นให้คนไทยตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบใส่ใจกับสังคมและโลกมากขึ้น เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวดีๆอยู่กับประเทศไทยตลอดไป.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ