งัดกฎหมายทุกฉบับจับคนขี้ฉ้อ ดิ้นแก้ปัญหาสินค้าไร้คุณภาพทะลักเข้าไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

งัดกฎหมายทุกฉบับจับคนขี้ฉ้อ ดิ้นแก้ปัญหาสินค้าไร้คุณภาพทะลักเข้าไทย

Date Time: 9 ส.ค. 2567 05:30 น.

Summary

  • พาณิชย์จับมือ 8 หน่วยงาน หามาตรการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกไร้มาตรฐานมาขายในไทย ทั้งทางออฟไลน์– ออนไลน์ ป้องกันผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ลั่น 1–2 วันนี้ เตรียมปูพรมตรวจสอบทั่วกรุง หากพบทำธุรกิจไม่ถูกต้อง งัดกฎหมายทุกฉบับมาเล่นงาน ส่วนทางออนไลน์ เล็งหามาตรการเพิ่มเติมจัดการอีก

Latest

ฟื้นเฟสใหม่ “เราเที่ยวด้วยกัน” “สรวงศ์” สั่ง ททท.ชงโครงการเสนอนายกฯอิ๊งค์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกผ่านทางออฟไลน์และออนไลน์เข้ามาในไทย ซึ่งอาจกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศว่า เดิมการซื้อขายสินค้า จะเป็นการสั่งซื้อไปที่โรงงาน แล้วมีผู้นำเข้ามาขายต่อ ค้าส่ง ค้าปลีก แล้วจึงจะถึงผู้บริโภคในไทย แต่ปัจจุบันรูปแบบการค้าเปลี่ยนไปเป็นจากโรงงานมาที่แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ แล้วถึงผู้บริโภคเลยเหมือนที่เป็นกระแสในโลกโซเชียลอยู่ขณะนี้ ทำให้ห่วงโซ่สินค้าทั้งระบบเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการในบางช่วงการค้าหายไป และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ของไทย

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทุกกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์, กรมศุลกากร, กรมสรรพากร, กระทรวงการคลัง, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), สำนักงาน คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ฯลฯ มาหารือเพื่อหาทางแก้ปัญหาเร่งด่วน ซึ่งจะพิจารณาผลกระทบของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในไทย โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้บริโภคว่า สินค้าที่นำเข้ามามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรับรองหรือไม่ เช่น อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ในการพิจารณาการแก้ปัญหานั้น ได้แบ่งสินค้านำเข้าที่วางขายในไทยเป็น 2 รูปแบบ คือ ออฟไลน์ และออนไลน์ โดยออฟไลน์นั้น ใน 1-2 วันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะลงพื้นที่ตรวจสอบว่า สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่วางขายในไทยนั้น ทำถูกต้อง ถูกกฎหมายไทยหรือไม่ เพราะจากการสุ่มตรวจสอบ พบว่า ร้านค้าในแหล่งที่มีคนต่างชาติอยู่มาก คนขายไม่ใช่คนไทย ไม่มีวีซ่าเข้าประเทศ ไม่มีใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ หรือจดทะเบียนนิติบุคคล

“ใน 1-2 วันนี้จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบการขายสินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศว่า มีการทำธุรกิจในไทยอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่น มีการจดทะเบียนพาณิชย์ จดทะเบียนนิติบุคคลหรือไม่ สินค้าที่นำเข้ามีคุณภาพ ได้มาตรฐานหรือไม่ เป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ เป็นต้น หากพบความไม่ถูกต้องก็จะใช้กฎหมายที่มีอยู่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินการ โดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะเร่งด่วน ส่วนระยะกลาง และยาว ก็ต้องมาดูว่าต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใดๆบ้าง เพื่อให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น”

ขณะที่ออนไลน์นั้น ได้ขอความร่วมมือกรมศุลกากร จัดส่งสินค้า 10 อันดับแรกที่นำเข้าจากต่างประเทศสูงสุดผ่านการซื้อทางออนไลน์ เพื่อดูว่า สินค้านั้น เป็นไปตามาตรฐานหรือไม่ หรือเป็นสินค้าทดแทน หรือเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้า รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดูว่า แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่ให้บริการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ในไทยนั้น กฎหมายไทยจะดำเนินการใดๆได้บ้าง เช่น กำหนดให้ต้องตั้งสำนักงานตัวแทนในไทย หรือต้องจด แจ้งใดๆหรือไม่

โดยในเบื้องต้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แจ้งว่า ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ.2565 มาตรา 18 (2) และ (3) กำหนดให้แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่แม้ไม่ได้ตั้งอยู่ในไทย แต่มีลูกค้าในไทย หรือมีความเสี่ยงต่อการเงิน การพาณิชย์ หรืออาจกระทบ หรืออาจเกิดความเสียหายต่อสาธารณชน ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA ด้วย

“การซื้อขายผ่านออนไลน์ กำลังดูว่า จะมีมาตรการอะไรมาดำเนินการเพิ่มเติมได้อีก นอกเหนือจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านทางออนไลน์ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เริ่มตั้งแต่บาทแรกที่คลังได้จัดเก็บแล้ว”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ