นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 2567 ว่า เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 ไว้ว่า น่าจะมีการขยายตัวของการส่งออกได้ประมาณ 2% นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ คาดว่าจะสูงถึง 36 ล้านคน ทำรายได้ราว 1.7 ล้านล้านบาท
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะมีการปรับลดลงอย่างน้อย 0.25% อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอยู่ที่ 34.5-36.5 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้การขยายตัวเศรษฐกิจปี 2567 โดยรวมจะอยู่ระหว่าง 2.4-2.7%
ทั้งนี้ นายมนตรีให้เริ่มจับตาเศรษฐกิจในครึ่งหลังปีนี้จากภาคต่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกถึง 72% การเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ช่องทาง
ช่องทางที่ 1 คือ การส่งออก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจผ่านห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป เพราะจากแบบจำลองเศรษฐกิจหากผลักดันให้การส่งออกขยายตัวได้ 4% จะมีผลเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้ 1% ซึ่งในช่วงครึ่งแรกการส่งออกติดลบ 2.0% จึงมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก
ช่องทางที่ 2 การท่องเที่ยว ในปีปกติก่อนโควิดคือ ปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวปีละราวๆ 40 ล้านคน ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 10 ล้านคน แต่ช่วงโควิดนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ครึ่งแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวมาแล้ว 17.5 ล้านคน นำเงินเข้ามาประมาณ 850,000 ล้านบาท แต่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนลดลงจาก 48,000 บาทต่อคน เหลือ 46,000 บาทต่อคน
ช่องทางที่ 3 การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมี 2 รูปแบบ การลงทุนทางอ้อมโดยผ่านตลาด หลักทรัพย์ และการลงทุนโดยตรงคือ มาตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการจ้างงานมีผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปีนี้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยของต่างประเทศลดลงอย่างชัดเจน ดัชนีปรับลงจาก 1,500 เหลือ 1,300 ส่วนการลงทุนโดยตรงมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวนมาก แต่การลงทุนจริงๆ ยังไม่เป็นรูปธรรม
ขณะที่ปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ คือ ด้านกำลังซื้อที่ลดลง โดยเรามีประชากร 70 ล้านคน มีรายได้ต่อคนต่อปีที่ 21,000 บาทต่อคนต่อเดือน กำลังซื้อภายในจึงไม่มากพอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยประเด็นที่ต้องจับตาแยกได้เป็น 3 ภาคส่วน คือ 1.ภาคครัวเรือน กำลังซื้อลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91.6% ของจีดีพี ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ได้นับรวมหนี้สหกรณ์และหนี้นอกระบบ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยก็สูงจากภาวะเงินเฟ้อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก ซึ่งการจ้างงานยังไม่ได้กลับสู่ภาวะปกติ
2.ภาคธุรกิจ การลงทุนชะลอตัว การเลิกกิจการเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อลดลง กระทบต่อสภาพคล่องภาคธุรกิจ สถาบันการเงินก็เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง หนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) เริ่มส่งสัญญาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME รายเล็ก 2.5 ล้านราย ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงิน ซึ่งประมาณ 53% ใช้การกู้เงินจากสถาบันการเงิน 11% กู้สถาบันการเงินในระบบและนอกระบบ ขณะที่ 35% พึ่งพาเฉพาะแหล่งเงินนอกระบบ ซึ่งเป็นภาระต้นทุนทางการเงินและสภาพคล่องทางธุรกิจ ทำให้เริ่มเห็นการทยอยปิดกิจการมากขึ้น
3.ภาครัฐบาล การลงทุนภาครัฐซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยผ่านงบลงทุนซึ่งมี 700,000-800,000 ล้านบาทต่อปีงบประมาณ ในครึ่งปีแรกประสบปัญหาล่าช้า โดยปี 67 จัดทำเป็นงบขาดดุล 700,000 ล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มเป็น 12 ล้านบาท หรือ 64% ของจีดีพี และขณะนี้งบประมาณปี 68 กำลังอยู่ในสภาฯจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย.ซึ่งเป็นงบขาดดุล 800,000 ล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะขยายตัวเป็น 67% ของจีดีพี ขณะที่กรอบวินัยการเงินการคลังอยู่ที่ 70% ทำให้เครื่องมือทางการคลังมีข้อจำกัดมากขึ้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในครึ่งปีหลัง นายมนตรี กล่าวว่า จะต้องติดตาม 1.สถานการณ์ในตะวันออกกลางที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จากความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ซึ่งจะกระทบต่อการขนส่งผ่านช่องแคบสุเอซ ทำให้ค่าขนส่งระหว่างประเทศสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจมีผลต่อราคาน้ำมัน และนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้ออีกระลอก
2.เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากการประกาศอัตราการว่างงานสูงถึง 4.3% สูงสุดในรอบ 3 ปี นอกจากนั้น สหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยผ่านการค้าระหว่างประเทศ กล่าวคือ หากพรรครีพับลิกัน นำโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี จะมีนโยบายเศรษฐกิจกีดกันทางการค้าที่จะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งไทยเป็นห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) และ EU ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย แต่ถ้าหากพรรคเดโมแครต โดยรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ชนะ นโยบายจะผ่อนคลายกว่า เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกและไทยมากกว่า
3.เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศโดยเฉพาะในเดือนนี้ที่จะมีประเด็นการเมืองหลายประเด็น ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล และบรรยากาศการลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
อย่างไรก็ตาม นายมนตรีมองว่าแม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยเช่นกัน คือ 1.จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จะทำให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเดือน ก.ย.มีโอกาสสูงมาก ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตามไปด้วย
2.งบประมาณปี 2567 ผ่านสภาฯไปเมื่อเดือน เม.ย.และงบประมาณปี 2568 กำลังอยู่ในขั้นตอนกรรมาธิการในสภา จะแล้วเสร็จราว ก.ย.ที่จะมาช่วยเสริมในช่วง ต.ค.-ธ.ค.รวมทั้งงบดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งได้มีการเริ่มลงทะเบียนแล้วจะมีผลช่วงปลายปีนี้ จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อภาคครัวเรือนอีกทางหนึ่ง และจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารและแนวทางจัดการภาคปฏิบัติ 3.การเจรจาทำความตกลงร่วมมือทางการค้า FTA กับประเทศคู่ค้าเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยเฉพาะ FTA ไทยกับอังกฤษ และ FTA ไทยกับ EU ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจ 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจโลก ควรเร่งเรื่องการเจรจา รวมทั้งขยายความร่วมมือไปยังประเทศคู่ค้าอื่นๆด้วย.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่