ตลาดรถยนต์ไทย “อยู่ยาก” ต้องรอ 10 ปี คนซื้อรถใหม่ เกมตัดราคา ไม่ช่วย “ความคุ้มค่า” มาก่อนโปรโมชัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ตลาดรถยนต์ไทย “อยู่ยาก” ต้องรอ 10 ปี คนซื้อรถใหม่ เกมตัดราคา ไม่ช่วย “ความคุ้มค่า” มาก่อนโปรโมชัน

Date Time: 7 ส.ค. 2567 10:43 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ตลาดรถยนต์ไทยแข่งดุ หมดยุคเซฟโซน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน จาก EV ตีตลาด คนตัดสินใจซื้อนาน เปลี่ยนรถใหม่ต้องรอ 10 ปี ความคุ้มค่ามาก่อนโปรโมชัน เกมตัดราคา ช่วยพยุงยอดขายระยะสั้น แต่เสี่ยงปัญหาสภาพคล่องในระยะยาว

Latest


นับว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ สำหรับ “ตลาดรถยนต์ไทย” ที่ต้องเผชิญกับยอดขายที่หดตัวอย่างรุนแรง จากการเข้ามาตีตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) โดยเฉพาะจากประเทศจีน ซ้ำร้ายสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของ GDP ยังดันหนี้เสีย (NPL) พุ่งทะลุ 1 ล้านล้านบาท

ข้อมูลล่าสุดจากเครดิตบูโร พบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี หนี้เสียรถยนต์เติบโตมากที่สุดถึง 30% คิดเป็นมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์พุ่ง เนื่องจากธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

ปัจจัยรุมเร้าทั้งภายในและภายนอก ไม่ได้แค่สร้างการเปลี่ยนแปลง เชิงโครงสร้างกับตลาดรถยนต์ไทยเท่านั้น แต่ยังกดดันให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ SCB EIC พบว่า พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อรถของคนไทยมีแนวโน้มซับซ้อนขึ้น ใช้เวลาตัดสินใจนาน และต้องการข้อมูลที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น เนื่องจากตัวเลือกในตลาดรถยนต์ มีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของประเภทเครื่องยนต์ ระดับราคา และการเข้ามาของแบรนด์ใหม่ๆ สะท้อนจากยอดขายรถ SUV ที่สามารถขึ้นมาเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์นั่งของไทย โดยแรงส่งสำคัญมาจากกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ซึ่งมีส่วนทำให้สัดส่วนยอดขายรถประเภทนี้เพิ่มขึ้นจาก 5% ณ ปี 2014 มาอยู่ที่ 18% ณ ปี 2023 ขณะที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กในกลุ่ม Eco car และ B-segment กลับได้รับความนิยมลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการต้องแย่งชิงฐานลูกค้ากับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าที่มีระดับราคาใกล้เคียงกัน

เปิดพฤติกรรมซื้อรถคนไทย ปี 2024

พฤติกรรมการซื้อรถของคนไทย เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน แตกต่างกับในอดีตใน 3 ด้านสำคัญ คือ

1. ต้องใช้เวลา 10 ปี ถึงเปลี่ยนรถใหม่

คนไทยมีแนวโน้มซื้อรถใหม่ช้าลง เนื่องจากมองหาความคุ้มค่าในระยะยาว สะท้อนได้จากอายุการใช้งานรถยนต์นั่งเฉลี่ย ณ ปัจจุบัน อยู่ที่เกือบ 10 ปี เพิ่มขึ้นจาก 7 ปี เมื่อ ปี 2013 ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลต่อตลาดรถยนต์ดังนี้

  • วัฏจักรยอดขายรถยนต์มีแนวโน้มหนืดขึ้น
  • ผู้บริโภคหันมามองหาตัวเลือกการขับขี่ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว อาทิ ต้นทุนด้านพลังงาน ราคาขายต่อ เบี้ยประกัน รวมถึงค่าซ่อมบำรุง
  • ธุรกิจอู่ซ่อมและอะไหล่ยนต์จะได้รับอานิสงส์โดยตรง แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์การขับขี่ใหม่ๆ อาทิ ความพร้อมด้านอุปกรณ์ ชิ้นส่วน ฝีมือและทักษะช่างสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

2. เลือกความคุ้มค่า มากกว่าโปรโมชันลดราคา

ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey
พบว่า แผนการซื้อพาหนะส่วนตัวของคนไทยนับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา เริ่มให้ความสำคัญกับข้อมูลการประหยัดพลังงานในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับการจัดโปรโมชันด้านราคา โดยผู้บริโภคบางส่วนมองว่า กลยุทธ์การลดราคา ดึงดูดใจในระยะสั้น ขณะที่ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านพลังงานตอบโจทย์ความคุ้มค่าในระยะยาวได้ดีกว่า สวนทางกับพฤติกรรมในอดีต ซึ่งราคาขายและการจัดโปรโมชัน มีอิทธิพลสูงสุดต่อการตัดสินใจซื้อ


3. ส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง BEV และ Hybrid แซงหน้ารถสันดาปแล้ว

ในตลาดรถยนต์นั่งรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง BEV และ Hybrid กลายเป็นตัวเลือกการขับขี่หลักของคนไทยในกลุ่มรถยนต์นั่ง นับตั้งแต่ปี 2023 สะท้อนจากส่วนแบ่งยอดขายรวมกันนั้นสูงถึง 60% โดยกลุ่มรถ Hybrid ได้รับความนิยมต่อเนื่องและขยายตัวเฉลี่ยปีละ 38% (นับตั้งแต่ปี 2019) ขณะที่ตลาดรถ BEV ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่าน โดยยอดขายสะสมตั้งแต่ปี 2018-มิ.ย. 2024 อยู่ที่ราว 1.25 แสนคัน ซึ่งการเปิดรับนี้มาจากความตื่นตัวของผู้บริโภคที่คิดเป็นเพียง 15% ของ Potential customer

ดังนั้น การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจึงยังมีแนวโน้มสดใสสวนทางกับสภาวะยอดขายรถยนต์ในภาพรวมโดยเฉพาะในปี 2024 ที่คาดว่า EV Market share จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 74% ของกลุ่มรถยนต์นั่งหรือราว 30% ของตลาดรถยนต์ในประเทศทั้งหมด

ทั้งนี้ในระยะข้างหน้า สงครามราคาจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายเป็นวงกว้าง โดยจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในรถยนต์ 3 ประเภท ได้แก่ รถเก๋งสันดาปขนาดเล็ก เช่น Eco car และ B-segment, รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากประเทศจีน และรถยนต์นั่งราคาต่ำล้าน

อย่างไรตาม ผู้ประกอบการไทยในตลาดรถยนต์ไม่ควรพึ่งพากลยุทธ์การตัดราคามากเกินไป เนื่องจากสามารถกระตุ้นยอดขายได้ในระยะสั้น หากธุรกิจใช้กลยุทธ์นี้ถี่ขึ้น ผู้บริโภคจะเริ่มชินกับการลดราคา และชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ออกไปก่อน เพื่อรอราคาปรับลดลงอีกในอนาคต ในระยะยาวกลยุทธ์ตัดราคา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ราคาขายที่มีความผันผวนสูงยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย และเต็นท์รถมือ 2 ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ค่าเสื่อม และทุนประกันภัยรถยนต์

ที่มา:SCB EIC

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์