ถึงคิวรถยนต์-บัตรเครดิต คลังเร่งแก้หนี้เน่าครัวเรือน 1.5 ล้านล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ถึงคิวรถยนต์-บัตรเครดิต คลังเร่งแก้หนี้เน่าครัวเรือน 1.5 ล้านล้าน

Date Time: 1 ส.ค. 2567 07:40 น.

Summary

  • “พิชัย” ลั่นปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องหลักของเศรษฐกิจไทย เร่งแก้หนี้รถยนต์-บัตรเครดิต ย้ำอยากให้ดอกเบี้ยลดลง ขณะที่ ธปท.จะพิจารณาลดการผ่อนหนี้บัตรเครดิตลงเหลือ 5% เพื่อช่วยแก้หนี้เสีย

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เนื่องในวาระแห่งการสถาปนา 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคโลกเดือด!” ว่า ปัญหาเรื่องหนี้ในเศรษฐกิจไทยยังเป็นเรื่องหลัก โดยมี 3 กลุ่ม ได้แก่ หนี้ครัวเรือน ปัจจุบันมีหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูง 1.5 ล้านล้านบาท เติบโต 3.2% จากเดือน เม.ย.67 ต่อมาคือหนี้ภาคธุรกิจมี NPL สูง 390,000 ล้านบาท ขยายตัวขึ้นมา 2.9% และหนี้ของภาครัฐ 11.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

สำหรับหนี้เสียที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคครัวเรือนในส่วนของรถยนต์เป็นหนี้เสียกว่า 250,000 ล้านบาท โดยขณะนี้รัฐบาลพยายามเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในส่วนของรถที่มีการถูกยึด หรือผ่อนต่อไม่ไหว ให้ผู้ที่มีความต้องการว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร โดยรัฐบาลจะหามาตรการสนับสนุนเข้ามาช่วย เช่น การลดหนี้เสีย และนำรถยนต์ที่ถูกยึดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนจัดทำมาตรการอยู่ ขณะที่ยอดขายที่ลดลง ทั้งรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง แต่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะยังไม่ได้เข้าไปดูแล

ส่วนการแก้ปัญหาหนี้เสียบัตรเครดิตที่มีมูลหนี้ 68,000 ล้านบาท และสินเชื่ออุปโภคบริโภค 280,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการผ่านคลินิกแก้หนี้ โดยเปิดให้ประชาชนรวมหนี้ แล้วมาผ่อนจ่ายดอกเบี้ยต่ำ 3% นาน 5 ปี ด้านหนี้เสียบ้าน มูลหนี้ 220,000 ล้านบาท ก็ให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยดู เช่น ปรับโครงการสร้างหนี้ ขยายเวลาชำระเงินงวดเป็น 80-85 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลยังเน้นการลงทุน ด้วยการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายว่า 3 ปี (2566-2568) จะมีเม็ดเงินลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เกิดขึ้นจริง 1.68 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2568 คาดมีเงินลงทุนสูงถึง 638,000 ล้านบาท

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% โดยส่วนตัวมองว่าไม่ได้อยู่ในระดับสูงเกินไป แต่ไม่สามารถส่งสัญญาณลบได้ ทั้งนี้ จะพบว่าที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติไหลเข้า เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการอะไรบางอย่าง

“ช่วงหลังจากโควิดได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หากเราปรับให้สอดคล้องดอกเบี้ยนโยบายต่างประเทศ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยลงเหมือนกับชาวโลก ยอมรับว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศเล็กๆของโลกใบนี้ ฉะนั้นต้องสอดส่องสถานการณ์โลกมากกว่าสถานการณ์ในไทย จะต้องมีการถ่วงน้ำหนัก”

ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% นำไปสู่การคำนวณส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต้นทุนเงินฝากและเงินกู้ (NIM) โดยต้นทุนของสถาบันการเงินปล่อยกู้รายใหญ่ 3% ต้นทุนแบงก์เพียง 1% กว่า ขณะที่การปล่อยกู้รายย่อย การคิดอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่กว่า 6-7% ฉะนั้นมี NIM ทั้ง 2 ส่วนที่ผสมอยู่ในสถาบันการเงิน โดย NIM คำนวณจากต้นทุนของแบงก์ รวมด้วยการตั้งสำรองหนี้สูญ หากแบงก์สำรองสูง ต้นทุนก็จะแพง อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินยังเข้มแข็ง แต่รายย่อยยังเข้าถึงเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูง

ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้มีความคิดเห็นให้ลดอัตราการผ่อนส่งขั้นต่ำของบัตรเครดิต (Min pay) กลับลงไปอยู่ที่ 5% หลังจากที่ ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราการผ่อนส่งขึ้นมาเป็นขั้นต่ำ 8% ก่อนที่จะกลับขึ้นเป็น 10% ตามอัตราปกติ ว่า ธปท.กำลังทบทวนกรณีดังกล่าวอยู่ เพราะมีความกังวลว่าจะกระทบต่อการใช้จ่าย และการผ่อนส่งหนี้ของประชาชน รวมทั้งอาจจะทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่ม โดยคาดว่าจะชัดเจนในเวลาไม่นานนี้.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ