แบงก์ชาติ เข้าใจคนลำบาก เร่งหารือผ่อนเกณฑ์ จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต ไม่ฟันธงกลับมา 5%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แบงก์ชาติ เข้าใจคนลำบาก เร่งหารือผ่อนเกณฑ์ จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต ไม่ฟันธงกลับมา 5%

Date Time: 31 ก.ค. 2567 18:48 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • แบงก์ชาติ เข้าใจคนลำบาก หลังปรับขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% ดันหนี้เสียพุ่ง เร่งคุยแบงก์หารือผ่อนเกณฑ์ ชี้ต้องพิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน เล็งออกมาตรการเพิ่มหากคนจ่ายไม่ไหว

Latest


ความคืบหน้าการปรับลดอัตราขั้นต่ำชำระบัตรเครดิต (Min Pay) หลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตให้กลับไปที่ 5% อีกครั้ง ในการประชุมหารือประเด็นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ท่ามกลางหนี้เสียบัตรเครดิต (NPL) ที่พุ่งสูงขึ้น 1.1 ล้านใบ มูลค่า 64,000 ล้านบาท


ล่าสุดวันนี้ (31 ก.ค.) ในงาน BOT Monthly Briefing แถลงภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนมิถุนายน ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ได้อัปเดตความคืบหน้าประเด็นดังกล่าวว่า แบงก์ชาติเข้าใจถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์หนี้เสียในปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนอัตราชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต ซึ่งต้องมีการคุยกับเจ้าหนี้ โดยจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ การปรับเกณฑ์จะต้องพิจารณาในแง่ของผู้ได้รับผลกระทบ หากมีการปรับเพิ่มหรือลดอัตราขั้นต่ำ ผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไร สามารถปรับได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคนจ่ายไม่ได้ จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ ไม่ได้พิจารณาแค่จะปรับเพิ่มหรือลด ต้องมองให้รอบด้าน


ข้อมูลล่าสุดจากเครดิตบูโร พบว่าปัจจุบันคนไทยมีบัตรเครดิตรวมกันทั้งหมด 24 ล้านใบ โดยเป็นหนี้เสีย (NPL) ไปแล้ว 1.1 ล้านใบ และกำลังเป็นหนี้เสียอีก 200,000 ใบ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 32.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี สอดคล้องกับแนวโน้มสินเชื่อบัตรเครดิตล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2567 ของแบงก์ชาติ พบว่าหนี้เสียบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 4.13% แซงหน้าทุกพอร์ตสินเชื่ออุปโภคบริโภค ที่คุณภาพด้อยลงทุกพอร์ต ในขณะที่หนี้เสีย (NPL) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติยอมรับว่า การปรับอัตราการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต (Min Pay) จาก 5% เป็น 8% มีส่วนทำให้เกิดหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เนื่องจากหนี้เสียบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น มาจากกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก ที่ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่ฟื้นตัว โดยพบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้เสีย และค้างชำระเกินครึ่ง หรือกว่า 50% มีการถือบัตรเครดิตตั้งแต่ 2-5 ใบ ทั้งนี้ แบงก์ชาติจะมีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด พร้อมทบทวนมาตรการ ก่อนที่จะมีการปรับเพิ่มอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์