ลูกจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง? เมื่อบริษัท อ้างปัญหาเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้าง เลิกจ้าง-เลื่อนจ่ายเงินเดือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ลูกจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง? เมื่อบริษัท อ้างปัญหาเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้าง เลิกจ้าง-เลื่อนจ่ายเงินเดือน

Date Time: 23 ก.ค. 2567 10:56 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • เปิดกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง? เมื่อ “เศรษฐกิจ” ถดถอย อย่างเงียบๆ บริษัท อ้าง ปรับโครงสร้างองค์กร ตัดงบ เลิกจ้าง และ เลื่อนจ่ายเงินเดือน

Latest


ต้องยอมรับว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ แรงเขย่า จาก Digital Disruption ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มาเร็ว และ แรง! ทำให้ สินค้าและบริการ หลายประเภท ที่เคยเป็นดาวรุ่งในอดีต ได้เดินทางเข้าสู่ภาวะ “โลกลืม” อย่างช้าๆ บ้างก็ฉับพลัน แตกต่างกันออกไป ตามการปรับตัว และ การแข่งขันในอุตสาหกรรม 

ขณะ “เงินทุน” ต่อชีวิต ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด ที่ส่งผลต่อ การอยู่รอดของธุรกิจ และ แน่นอน องค์กร หรือ บริษัทไหน ที่มีการเงินตึงตัว ไม่มีสภาพคล่อง หนี้สูง ไปต่อได้ยาก! 

เศรษฐกิจซึมยาว บริษัทแห่ปรับโครงสร้างองค์กร 

จับสัญญาณ เศรษฐกิจไทย เวลานี้ อยู่ในบรรยากาศซึมยาว ลากมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 สะท้อนจากยอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น หรือ หนี้เสียในภาคครัวเรือน ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ที่หวังพึ่งการบริโภคในประเทศ “ซบเซา” ไปตามๆ กัน ห่วงโซ่อุตสาหกรรมรถยนต์, ที่อยู่อาศัย พากันฟุบ กิจการสื่อหลายแห่ง มีการปรับโครงสร้างองค์กรภายในอย่างเงียบๆ 

สอดคล้องกับ นิยามทางเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ที่นักเศรษฐศาสตร์ ให้คำเรียกว่า Silent Recession หรือ การถดถอยของเศรษฐกิจอย่างเงียบๆ ที่ประชาชนทั่วไปสัมผัสได้ จาก แรงกดดันทางการเงิน ค่าครองชีพสูง ต้นทุนการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น มากกว่าการเพิ่มของรายรับ เช่นเดียวกับ ภาคธุรกิจ ที่รายจ่ายคงที่ และ รายรับหดหาย 

เกิดภาพ บางบริษัท ทยอยปลดคนจ้าง บ้างมีการเลื่อนจ่ายเงินเดือนพนักงาน จากอู้ฟู่ ก็มีนโยบายรัดเข็มขัด ตัดงบทุกด้าน ลดสวัสดิการพนักงาน แม้กระทั่งเลิกจ้างหมอนวดเข้ามาบริการในออฟฟิศอย่างเก่า กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของ “ลูกจ้าง”

เปิดกฎหมายแรงงาน เลิกจ้าง จากการปรับโครงสร้างองค์กร 



ในประเด็นดังกล่าว “Thairath Money” ชวนเปิดกฎหมายแรงงาน กรณี ลูกจ้าง ได้รับผลกระทบ จากการที่บริษัท ปรับโครงสร้างองค์กร หรือ ผัดวัน-เลื่อนจ่าย “เงินเดือน” ลูกจ้างมีสิทธิทางกฎหมายอย่างไรบ้าง?

โดยข้อมูลเผยแพร่ให้ความรู้ จาก รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์ เพจกฎหมายแรงงาน ระบุว่า กรณีบริษัท มีการอ้างว่า จำเป็นต้อง “ปรับโครงสร้างองค์กร” ปลดพนักงานออก แต่ภายหลังพบว่า ตำแหน่งดังกล่าว ยังคงมีอยู่ และไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอน อาจถือได้ว่า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และ สามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้

เทียบเคียงกับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5714/2561 ซึ่งระบุว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ 

ซึ่งการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะ "เหตุปรับโครงสร้างองค์กร" เพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ธุรกิจ 3 ปี โดยอ้างว่าเพื่อแข่งขันทางธุรกิจ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายจ้างประสบภาวะความจำเป็นหรือขาดทุนจนถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้าง อีกทั้งงานในส่วนที่ลูกจ้างรับผิดชอบยังมีอยู่ เพียงแต่นายจ้างมอบหมายให้บุคคลอื่นรับผิดชอบแทนประกอบกับไม่ได้ความชัดเจนว่านายจ้างมีหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกหรือประเมินให้คะแนนในการเลิกจ้างลูกจ้างอย่างไร

ดังนั้น ในทางกฎหมายแรงงานแล้ว แม้นายจ้างเลิกจ้าง “ลูกจ้าง” โดยนายจ้างจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างแล้ว “การเลิกจ้าง” ดังกล่าว ให้ถือเป็นการเลิกจ้าง โดยไม่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

สรุปตามข้อสังเกตหลักๆ ดังนี้ 

  • ปรับโครงสร้างองค์กร จนต้องเลิกจ้างลูกจ้าง แต่ในโครงสร้างใหม่ยังมีส่วนงานของลูกจ้างอยู่ แต่ให้คนอื่นทำแทน จึงน่าคิดว่าผลจากการปรับโครงสร้างส่งผลโดยตรงให้ต้องเลิกจ้างหรือไม่
  • การประเมินผลงาน ปรากฏว่า KPI ก็ไม่ชัดว่าใช้เกณฑ์อะไร แต่ละข้อคะแนนเท่าไรเพื่อใช้ในการประเมิน ซึ่งถ้ามีความชัดเจนมากพอที่จะทำให้เห็นว่าลูกจ้างไม่มีความสามารถหรือสมรรถภาพในการทำงานมากพอก็อาจเลิกจ้างได้
  • คดีนี้เมื่อศาลมีความสงสัยตามข้อ 1 และ ข้อ 2 ผลจึงเท่ากับว่าเป็นการ "เลิกจ้างตามอำเภอใจ" เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ลูกจ้างได้รับผลกระทบ จากนายจ้าง เลื่อนจ่ายเงินเดือน ทำอย่างไรได้บ้าง ทางกฎหมาย 

ส่วนประเด็นคำถามฮอตฮิต มากที่สุดในช่วงนี้ กรณี ถูกเลื่อนจ่ายค่าจ้าง/เงินเดือน ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องทางกฎหมายอย่างไรได้บ้าง? ข้อคำถามนี้ รศ.ตรีเนตร อธิบายไว้ว่า ตามกฎหมายแรงงาน ประกอบกับสัญญาจ้างแรงงานกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงกัน แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ซึ่งหลายคนก็มีปัญหาอีกว่าตกลงจ้างกันด้วยวาจา ไม่มีสัญญา ต้องบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะ “สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายก็ได้ โดย เนื้อหาของสัญญาจะระบุว่าบุคคลหนึ่งเรียกว่า "ลูกจ้าง" ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่า "นายจ้าง" และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

เมื่อตกลงว่าจะจ่ายค่าจ้างแล้วก็ต้องดูต่อว่าจะจ่ายค่าจ้างกันวันไหน ซึ่งต้องดูจากข้อบังคับในการทำงานเพราะมาตรา 108 กำหนดว่า "...ข้อบังคับนั้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการ ดังต่อไปนี้ ...(4) วันและสถานที่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด..."

จึงเห็นได้ว่ากฎหมายให้ระบุ 2 เรื่อง คือ "วัน" และ "สถานที่" ลูกจ้างจึงสามารถทราบได้ว่านายจ้างจะจ่ายค่าจ้างวันไหน เช่น จ่ายวันที่ 25 ของเดือน หรือ จ่ายสิ้นเดือน หรือจ่ายวันที่ 1 เป็นต้น แต่ข้อบังคับตามมาตรา 108(4) ข้างต้นจะต้องจ่ายไม่น้อยกว่าเดือนละครั้งตามมาตรา 70(1) แต่ถ้าลูกจ้างลาออกต้องจ่ายภายใน 3 วันนับแต่วันที่ออกจากงาน

ส่วนปัญหาที่ว่าหากนายจ้างไม่จ่ายจะทำอย่างไรได้บ้าง? 

คำตอบเบื้องต้นก็คงต้องแนะนำให้พูดคุยหารือกันก่อน แต่หากไม่ได้คำตอบและคิดว่าไม่ทน หรือทนไม่ไหวแล้ว แนะนำให้ใช้กฎหมาย ซึ่งก็คือการไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ที่ทำงานอยู่ ตามมาตรา 123 กำหนดว่า

"ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่"

เมื่อไปร้องแล้วพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง แต่พนักงานตรวจแรงงานอาจขอขยายระยะเวลาได้ หากพนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างใช้เงิน ก็อาจสั่งให้ชำระดอกเบี้ย 15% ต่อปี หรือเงินเพิ่ม 15% ทุกๆ 7 วันได้ด้วย หากพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่านายจ้าง "จงใจ" ไม่จ่ายค่าจ้าง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์