นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ดิจิทัล ชุมชนถือว่ามีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นสถานที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน และตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์บริการข้อมูล และช่วยเหลือการลงทะเบียน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้ดำเนินการจัดการอบรม และให้ความรู้เพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตด้วย
นอกจากนั้น ดีอียังได้จัดอบรมหลักสูตรเสริมภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับภาคทฤษฎี เพื่อส่งเสริมด้านอาชีพ โดยใช้แอปพลิเคชันหลักของ สดช.ร่วมกับการใช้งานแอป “ทางรัฐ” และแอป OFOS (One Family One Softpower) โดยนำความรู้จากการอบรมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น การออกแบบลายผ้าประจำพื้นที่ (ส้มบางมดและดอกทองอุไร) เครื่องวัดคุณภาพอากาศ PM2.5 และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robot)
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังไม่ปิดช่องทาง การใช้เงินมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการเงินงบประมาณ ขณะนี้เตรียมวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 450,000 ล้านบาทตามการประเมินว่าจะมีประชาชนใช้สิทธิ์ 45 ล้านคน แต่หากงบประมาณไม่เพียงพอ มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เงินมาตรา 28 แต่ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินเท่านั้นเอง
“แต่ถ้ามีประชาชนเข้าร่วมโครงการเต็ม 100% หรือราว 50.7 ล้านคน ยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งเงิน เพราะรัฐบาลมีแหล่งเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้ คาดว่าในเดือน ก.ย.นี้จะทราบจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ส่วนการใช้เงินงบประมาณเหลื่อมปีจากปี 67 ข้ามไปปี 68 นั้น ดำเนินการได้อยู่แล้ว เพราะเป็นรายจ่ายที่ได้ลงนามสัญญาผูกพันไว้แล้วก่อนสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งมีหลายโครงการของรัฐที่ทำสัญญากับเอกชน เพื่อเป็นงบผูกพันข้ามปี ประเด็นนี้ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลเปลี่ยนเงื่อนไขและแหล่งเงินที่ใช้มาโดยตลอด โดยช่วงหาเสียงเลือกตั้งจะแจกเงินประชาชนทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ล่าสุดประชาชนที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 840,000 บาท และมีเงินฝากในบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 มี.ค.67 ขณะที่การใช้เงินงบประมาณ เดิม 560,000 ล้านบาท ลดเหลือ 500,000 ล้านบาท และล่าสุดเหลือ 450,000 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินมาจากการออก พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 67 วงเงิน 122,000 ล้านบาท การบริหารจัดการงบประมาณ 43,000-48,000 ล้านบาท รวมเป็น 165,000-170,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 68 อีก 280,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากการปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณและบริหารจัดการงบประมาณ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่