สานพลัง! ลดความเหลื่อมล้ำ 6 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงนำไทยยั่งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สานพลัง! ลดความเหลื่อมล้ำ 6 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงนำไทยยั่งยืน

Date Time: 22 ก.ค. 2567 05:50 น.

Summary

  • สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย “รวยกระจุก จนกระจาย” ยังคงเป็นปัญหาสั่งสม หนักหน่วง รุนแรงเพิ่มขึ้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเกิดการชะงักงันชะลอตัว

Latest

ภารกิจผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่ แก้หนี้ 2.3 แสนล้าน สร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง

สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย “รวยกระจุก จนกระจาย” ยังคงเป็นปัญหาสั่งสม หนักหน่วง รุนแรงเพิ่มขึ้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเกิดการชะงักงันชะลอตัว กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือคนระดับรากหญ้าต่อเนื่องมาถึงคนชั้นกลาง หนี้ภาคครัวเรือนของไทยขยับขึ้นสูงถึงกว่า 90% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ความยากจนยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้ถ่างออกกว้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รายได้ สาธารณสุข การเมือง รวมไปถึงด้านความยุติธรรม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันออกนโยบายและหาทางแก้ปัญหาในการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ

โจทย์ใหญ่นี้ ยังได้ถูกโยนลงมากลางวงจาก นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ในงานปาฐกถาพิเศษ ให้กับนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ที่ผู้เข้ารับการอบรมล้วนเป็นผู้นำระดับสูงจากองค์กรต่างๆ โดยขอให้ช่วยเหลือประเทศ ลดความไม่เสมอภาค และความเหลื่อมล้ำของสังคม ช่วยคนตัวเล็กให้ยืนอยู่ในสังคมได้

ทำให้โจทย์นี้ ได้ถูกนำมาขยายวงให้หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงที่สำคัญอีก 5 หลักสูตร ได้ร่วมกันจัดทำรายงานการศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยในด้านต่างๆ พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา

ประกอบด้วย หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) สถาบันวิทยาการการค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม วิทยาลัยการยุติธรรม, หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) สถาบันพระปกเกล้า, หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ก่อนที่จะนำผลงานทางวิชาการของทั้ง 6 สถาบัน มาเผยแพร่แลกเปลี่ยน สัมมนาและต่อยอดความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 6 หลักสูตร ร่วมมือผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และให้เกิดพลังแห่งการพัฒนาประเทศชาติ และสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยปีนี้ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ วปอ.รุ่น 66 เป็นเจ้าภาพในการสัมมนาร่วม 6 สถาบัน ในหัวข้อ “สานพลังลดความเหลื่อมล้ำนำไทยยั่งยืน” หรือ The POWER Of SIX

ซึ่งในที่นี้ “ทีมข่าวเศรษฐกิจไทยรัฐ” จะขอหยิบยกข้อสรุปรายงานการศึกษาเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของ 3 สถาบันมานำเสนอ ประกอบด้วย หลักสูตร วปอ. หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ดังนี้

วันฉัตร สุวรรณกิตติ
วันฉัตร สุวรรณกิตติ

“ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ” หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 66

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ
รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แม้ประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆยังคงปรากฏอยู่ และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศมาทุกยุคทุกสมัย

ผลการศึกษาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดีที่สุด มีโอกาสศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย และปริญญาตรีสูงกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะต่ำสุดหลายเท่า การเข้าถึงบริการสาธารณสุขยังเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ส่วนโครงสร้างทางภาษี ที่ยังไม่สามารถกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น

และไม่มีทีท่าว่าความเหลื่อมล้ำจะหมดไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปรียบเทียบระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน แนวทางการแก้ปัญหานี้ จึงไม่ใช่การทำให้คนทุกกลุ่มเท่ากัน แต่เป็นการดำเนินการบนหลักการของขั้นการพัฒนาคือ “อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน” บนหลักการของการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาต่างๆ

โดยหลักการของ “การอยู่รอด” คือ ทำให้คนไทยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี โดยมีมาตรฐานขั้นต่ำตามแต่ละบรรทัดฐาน เช่น จัดสวัสดิการสังคมให้ทุกคนเข้าถึงได้ “พอเพียง” คือ คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาศักยภาพจนพึ่งพาตนเองได้ หลุดพ้นกับดักความเหลื่อมล้ำ และ “ความยั่งยืน” คือ ไทยมีระบบโครงสร้างที่ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และพัฒนาคนไทย สังคมไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ที่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

คณะนักศึกษาหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 66 จึงนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย การปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม การส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการปรับปรุงนโยบายภาษี เพื่อให้กระจายรายได้ที่เป็นธรรม

โดย “การอยู่รอด” นั้น จะพัฒนาแอปพลิเคชันการรับรู้สิทธิและการเข้าถึงสิทธิทั้งหมดที่บุคคลพึงมี เพื่อให้เข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ โดยต่อยอดแอปฯที่มีอยู่คือ ThaiD รวมถึงช่วยสร้างโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่มีผลต่อการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เพื่อตัดวงจรความยากจน หลุดพ้นกับดักความยากจนข้ามรุ่น และเป็นบันไดสู่การเลื่อนลำดับชั้นในสังคม

ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำในขั้น “พอเพียง” จะบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการให้บริการ และพัฒนากลุ่มเป้าหมายแบบ “พุ่งเป้า” เช่น ปรับโครงสร้างจัดสรรงบประมาณภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการคลังเพื่อลดเหลื่อมล้ำ โดยปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้จัดเก็บทั่วถึงและเป็นธรรม ผลักดันประชาชนทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นอกจากนี้ ยังทบทวนแนวทางจัดสรรงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้ครอบคลุมองค์ประกอบด้านความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงกับสภาพปัญหา และความต้องการของพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชน เช่น รายได้ครัวเรือน สัดส่วนคนจน จำนวนประชากรกลุ่ม

ส่วนขั้น “ยั่งยืน” กลไกต่างๆต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ต้องทบทวนให้เป็นไปตามบริบทของการพัฒนาและเอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ ใช้มาตรการทางการคลังลดความยากจนและสร้างความเท่าเทียม โดยภาครัฐต้องลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อยกระดับบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งต้องบริหารจัดการงบประมาณอย่างพุ่งเป้า เพื่อให้แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้อย่างตรงเป้าหมายมากขึ้น

“แต่การดำเนินการเหล่านี้ จะต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ และครอบคลุมทุกมิติของปัญหา เพื่อนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ
นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ


“การเข้าถึงบริการสาธารณสุข เพื่อคนทั้งมวล คุณภาพชีวิต และความยั่งยืน ที่ทุกคนในชาติเข้าถึงได้”
หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) รุ่น 15

นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ Chersery Home International

ไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 82% สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ ขณะที่คนภาคอีสานเข้าถึงได้เพียง 63.5%

ส่วนสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย ชี้ว่า กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุด 10% มีโอกาสได้รับบริการผ่าตัดเพียง 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 10% ความเหลื่อมล้ำนี้ นอกจากกระทบต่อสุขภาพประชาชนแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ยังมีจุดอ่อน ทั้งขาดความเชื่อมโยงของระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ขาดแพลตฟอร์มที่มี AI ระหว่างผู้ให้และผู้ใช้บริการ ขาดการยกระดับสินค้าและบริการด้าน Medical and Wellness ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ระดับโลก

นักศึกษาหลักสูตร TEPCoT รุ่นที่ 15 จึงจัดทำแนวทางแก้ปัญหานี้ ผ่าน “ยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจการแพทย์เชิงสุขภาพ” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยว และบริการด้านสุขภาวะหรือการแพทย์ เพื่อทำให้ไทยมี New S-Curve ใหม่ให้กับธุรกิจสุขภาพด้านสุขภาวะและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และติดอันดับ 1 ใน 5 เป้าหมายในการเดินทางและใช้บริการของผู้รับบริการ ผู้ป่วย และนักท่องเที่ยวทั่วโลก (Top 5 World Destination)

โดยอาศัยนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่กำลังตื่นตัวกับธุรกิจนี้ ที่มีมูลค่าในตลาดโลกถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนไทยอยู่ที่ 0.9 ล้านล้านบาท หรือ 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ยังไม่ถึง 1% ของมูลค่าตลาดโลก จึงยังมีโอกาสที่ไทยจะชิงส่วนแบ่งตลาดโลกได้อีกมาก

“ยุทธศาสตร์นี้ มีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ในไทย ให้สูงขึ้นจากเดิมที่ไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท เป็น 7 ล้านล้านบาท ในปี 2571 หรือเพิ่มสัดส่วนใน GDP จาก 5.8% เป็น 20% ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย”

สำหรับการพัฒนายุทธศาสตร์นี้ให้บรรลุเป้าหมาย ดำเนินการผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 สร้างบริการที่มีคุณค่าสูงและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยผสานจุดแข็งของการแพทย์สมัยใหม่เข้ากับจิตบริการแบบไทยๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าแต่ละราย

กลยุทธ์ที่ 2 สร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงทุกมิติ โดยสร้างเครือข่ายกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ถ่ายทอดความรู้ และสร้างนวัตกรรมใหม่ รวมถึงเชื่อมโยงให้เกิดการใช้บริการได้ทุกภูมิภาค ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ นำมาซึ่งการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน

กลยุทธ์ที่ 3 มุ่งสู่ความยั่งยืนและความเท่าเทียม ภายใต้ BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น นำเศษเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีมูลค่าสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ จะพัฒนาแอปพลิเคชันต้นแบบ “Trawell” เพื่อสร้างการเชื่อมโยงบริการด้านสุขภาพ ตั้งแต่การดูแลป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีฟังก์ชันการใช้งาน คือ 1.ระบบปัญญาประดิษฐ์แนะนำบริการ หรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละคน 2.ระบบนัดหมายบริการสุขภาพและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 3.ฐานข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลและการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพ และ 4.แพลตฟอร์มส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพท้องถิ่น ที่เปิดพื้นที่ให้ SMEs Startup และผู้ผลิตชุมชนต่างๆ นำเสนอสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ

“ยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจแพทย์เชิงสุขภาพนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ของไทย ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืน”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท
ดร.ไกรยส ภัทราวาท

“กลไกตลาดทุนเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน”
หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่น 33

ดร.ไกรยส ภัทราวาท
กรรมการผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยหลายล้านคน และมีความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อปีมากกว่า 200,000 ล้านบาท หรือ 1.7% ของ GDP

นักศึกษา วตท.ได้ร่วมกันนำเสนอวิสัยทัศน์ และพันธกิจสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสถาบันวิทยาการตลาดทุน ที่ต้องการส่งเสริมบทบาทการพัฒนาตลาดทุน เพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน ผ่าน “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน”

ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของการพัฒนาประเทศของบริษัทจดทะเบียน และช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้ก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง เพิ่มโอกาสในการเคลื่อนย้ายทางสังคมและเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น

โดยได้นำเสนอ 6 แนวทาง รวมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบายที่กลไกตลาดทุนจะมีส่วนในการส่งเสริมแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อสินค้าสาธารณะ เช่น ความเสมอภาคทางการศึกษา และคุณภาพทุนมนุษย์ในประเทศไทย ทั้งมาตรการภาคสมัครใจ และมาตรการภาคบังคับ

โดยมุ่งแก้ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล ที่อาจเป็นสาเหตุของระดับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการศึกษาของภาคเอกชนไทย ที่แม้มีแรงจูงใจทางภาษีมากกว่า 2 เท่า แต่บริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ กลับบริจาคเงินทุนเพื่อการศึกษาเพียง 0.2% ของกำไรก่อนหักภาษี หรือเพียง 1 ใน 10 ของวงเงินที่บริจาคได้สูงสุด ส่วนบุคคลธรรมดา มีประชาชนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพียง 5.9% จาก 11 ล้านคนที่ได้บริจาคเพื่อการศึกษา ด้วยจำนวนเงินบริจาค 4.7% ของวงเงินที่ผู้เสียภาษีทั้งระบบพึงจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้

จากข้อเท็จจริงนี้ แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสอีกมากที่ภาคเอกชน และประชาชนจะมีบทบาทในการร่วมลงทุน และสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน

สำหรับข้อเสนอกลไกตลาดทุน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.สร้างแพลตฟอร์มส่งเสริมการลงทุน (Outcomes Fund) เพื่อการศึกษา ในการระดมทรัพยากรจากตลาดทุน ซึ่งเป็นการต่อยอดและพัฒนาระบบจ่ายเงินตามความสำเร็จของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างระบบนิเวศของการบริจาคตามผลลัพธ์ให้ขยายขนาดของกลไก สร้างศักยภาพของระบบ และนำโครงการนี้ไปต่อยอดกับเงินบริจาคเพื่อจุดประสงค์อื่นได้

2.หักสัดส่วนรายได้/กำไร (Commitment) เพื่อการศึกษา หรือมาตรการรณรงค์ให้เกิดการให้คำมั่นสัญญาในการกันกำไรของบริษัทเพื่อเป้าหมายทางสังคม การศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ 3.ออกตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social ImpactBond) เพื่อเป็นทางเลือกระดมทุนเพื่อการศึกษา 4.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคม (การศึกษา) ด้วยการออกกฎหมาย CSR เหมือนหลายประเทศออกกฎหมายบังคับให้เอกชนจัดสรรเงินเพื่อสาธารณกุศล เช่น มอริเชียส อินเดีย เนปาล ไนจีเรีย โดยมอริเชียส กำหนดให้บริษัทกันเงิน 2% ของรายได้ปีก่อนหน้า จัดตั้งกองทุน CSR โดยจัดสรร 75% ของกองทุนไปกระทรวงการคลัง ส่วนอีก 25% บริษัทนำไปใช้ในโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

5.มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเสนอยกระดับ ESG (การทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล) สู่ SDG (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) เพื่อส่งเสริม Double Materiality และ New S-Curve for Sustainable Growth & Competitive Advantage ให้กับประเทศ และ Make Capital Market Work for Everyone ด้วยมาตรการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียน 6.สถานประกอบการร่วมพัฒนากำลังคน เพื่อการพัฒนาประเทศ และเยาวชนนอกระบบการศึกษา

พลโท ทักษิณ สิริสิงห
พลโท ทักษิณ สิริสิงห

ต้องลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ

พลโท ทักษิณ สิริสิงห ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันป้องกันประเทศ กล่าวว่า ผลการประชุมและสัมมนาร่วมกันตลอดหลักสูตรของ 6 สถาบัน ต่างมีความเห็นตรงกันว่า “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นประเด็นสำคัญ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากมีผลกระทบหลายด้าน ที่สามารถขัดขวางความเจริญก้าวหน้าและความมีเสถียรภาพของสังคม

โดยต้นเหตุของปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” มาจาก ปัญหาดังนี้ 1.ความยากจนและความเป็นอยู่ที่ไม่ดี ทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมีโอกาสน้อย ในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล และการทำงานที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถนำไปสู่ความยากจนและคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง 2.ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อมีความเหลื่อมล้ำสูง จะเกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้และโอกาส ซึ่งจะทำให้บางกลุ่มได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มอื่นๆ และทำให้เกิดความตึงเครียดทางสังคม 3.การเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำมีผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคคลและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

4. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่สูงอาจลดทอนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการที่คนบางกลุ่มไม่สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เต็มที่ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เสถียร 5.การมีส่วนร่วมและความยุติธรรม ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ความเหลื่อมล้ำที่สูงจะทำให้การมีส่วนร่วมนี้เป็นไปได้ยาก และยังทำให้ความยุติธรรมและความเสมอภาคในสังคมลดลง

6.สันติภาพและเสถียรภาพทางสังคม ที่ “ความเหลื่อมล้ำ” สามารถเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความไม่สงบทางสังคมได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสุขภาพ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสังคมที่เสมอภาคและเป็นธรรม

ปิดท้าย พลโท ฐิตวัชร์ เสถียรทิพย์ ประธานนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า นักศึกษาทั้ง 6 สถาบัน ถือว่าเป็นหนึ่งในพลังแห่งความร่วมมือที่สำคัญของหลักสูตรสำคัญของสังคมและประเทศไทย จึงนำไปสู่คำว่า พลังแห่ง 6 สถาบัน หรือ The POWER Of SIX พลังแห่งสานพลัง หรือ Synergy และ I หมายถึง integration การบูรณาการความร่วมมือ และ X หมายถึง บทสรุปการสัมมนาที่จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป โดยพวกเราจะเดินหน้าแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทยให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยพลังของนักศึกษาทั้ง 6 สถาบัน โดยจะมีการนำเสนอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน เชื่อมั่นว่า พลังแห่งความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นรากฐานสำคัญให้สังคมร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ