ตลาดรถยนต์ไทย ส่อถึงจุด “อิ่มตัว” รถวิ่งบนท้องถนน สะสม 20 ล้านคัน “เศรษฐกิจโตช้า-คนสูงวัยล้นเมือง”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ตลาดรถยนต์ไทย ส่อถึงจุด “อิ่มตัว” รถวิ่งบนท้องถนน สะสม 20 ล้านคัน “เศรษฐกิจโตช้า-คนสูงวัยล้นเมือง”

Date Time: 19 ก.ค. 2567 10:42 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ตลาดรถยนต์ไทย ถึงจุด “อิ่มตัว” คาดยอดขายปี 67 หดตัวรุนแรงต่ำสุดในรอบ 15 ปี ความต้องการถดถอย คนรุ่นใหม่หันไปเช่าแทน “ซื้อ” รถวิ่งสะสมบนท้องถนน 20 ล้านคัน รอบหมุนเวียนต่ำ 1 คัน คนไทยใช้นานเฉลี่ย 12 ปี เศรษฐกิจโตช้า-แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ-คนสูงวัยก็ล้นเมือง

Latest


รู้หรือไม่? ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีรถยนต์วิ่งสะสมบนท้องถนนถึงเกือบ 20 ล้านคัน และถ้าคิดเป็นสัดส่วนง่ายๆ จะพบว่าในประชากร 1,000 คนนั้น มีคนที่ครอบครองรถอยู่ราว 277 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ 50 คัน ต่อประชากร 1,000 คน หรือฟิลิปปินส์ 38 คัน และอินโดนีเซีย 78 คัน 

ประกอบกับพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์ของคนไทยที่ค่อนข้างนาน เฉลี่ยถึง 12 ปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศหลักๆ ที่ใช้งานรถยนต์ประมาณ 6-8 ปี จึงทำให้โอกาสที่จะซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อหมุนเวียนรถเก่าค่อนข้างต่ำ นี่เองทำให้ขณะนี้ตลาดรถยนต์ในบ้านเรา เดินทางเข้าสู่จุด “อิ่มตัว” เรียบร้อยแล้ว 

คาดการณ์ ยอดขายรถยนต์ ปี 67 หดตัวรุนแรงในรอบ 15 ปี 


ข้อมูลจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb analytics รายงานว่า แม้ไทยจะผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนจากอุปทานชะงักงันทั่วโลก แต่สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศกลับยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า 

โดยล่าสุดยอดขายรถยนต์ 5 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวอย่างหนักถึง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มที่ยอดขายรถยนต์ทั้งปี 2567 นี้ จะหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 15 ปี อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะความต้องการรถยนต์ ที่ถดถอยน้อยลง อย่างที่กล่าวไปข้างต้น 

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยนับตั้งแต่การบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของแบรนด์ผู้ผลิตจีน ทำให้มาตรฐานการตั้งราคารถใหม่ในท้องตลาดมีแนวโน้มลดลงจากเดิม ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ขณะที่บางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์ออกไปจนกว่าจะเจอราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ 

รวมไปถึงทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ของคนยุคใหม่ ที่หันมาใช้การเช่าแทนการซื้อครอบครอง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต และลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะตามมา ทำให้การซื้อรถยนต์ในยุคสมัยนี้อาจน้อยกว่าในอดีต

โครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ เห็นชัดจากยอดขายที่อยู่อาศัยและรถยนต์ในประเทศระยะหลังชะลอการเติบโตลง ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างประชากรไทยที่อยู่ในภาวะ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”  และกำลังจะขยับเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) (สัดส่วนประชากรอายุ 65 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด) ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า 

สวนทางกับสัดส่วนประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อรถยนต์อย่างกลุ่มอายุ 25-49 ปี กลับมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 40% ของประชากรทั้งหมดในปี 2553 เป็น 35.2% ในปี 2566 และคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 33.2% ของประชากรทั้งหมดในปี 2573

เศรษฐกิจไทยโตช้า/แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อรถยนต์  


อีกทั้งยังมาจากปัจจัย “เศรษฐกิจไทย” มีแนวโน้มเติบโตช้าลง แม้เครื่องชี้วัดการบริโภคในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวได้ดี แต่ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของภาคบริการตามการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ภาคการผลิตและส่งออกก็กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างรุนแรงขึ้น 

รวมไปถึงการบุกตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลงในระยะยาว ซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตของรายได้และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในที่สุด
หนี้ครัวเรือนสูงกำลังเพิ่มข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันสูงถึง 91.3% ของจีดีพี ซึ่งสูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 80% ของจีดีพี และสูงกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน ท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ จึงทำให้สถาบันการเงินมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อยมากขึ้น 

สะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงินหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาสในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มผ่อนคลายลงบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อ แต่คาดว่าความกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมค่าของมูลค่าสินทรัพย์ (รถยนต์) ในอนาคตแนวโน้มการด้อยลงของคุณภาพหนี้ รวมถึงเงื่อนไขสัญญากู้และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จึงทำให้สถาบันการเงินยังคงมีความรัดกุมในการพิจารณาสัญญาสินเชื่อเช่าซื้อต่อไป

ทั้งนี้ นอกจากความต้องการรถยนต์ในประเทศจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะยาวแล้ว ttb analytics ยังมองว่าในมิติของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ก็เผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่รุนแรงขึ้นในหลายมิติเช่นกัน จากกระแสความนิยมของรถยนต์ EV ในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน 

ที่มา : ttb analytics

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์