ปิดฉากมหากาพย์รถไฟฟ้าสีส้ม เห็นชอบ BEM ร่วมลงทุน-จบปัญหากฎหมาย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปิดฉากมหากาพย์รถไฟฟ้าสีส้ม เห็นชอบ BEM ร่วมลงทุน-จบปัญหากฎหมาย

Date Time: 17 ก.ค. 2567 09:43 น.

Summary

  • ครม.เห็นชอบ BEM ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 140,000 ล้านบาท หลังศาลปกครองสูงสุดตัดสินกระบวนการคัดเลือกทำถูกต้อง “สุริยะ” เร่งให้จัดหารถเพื่อเปิดเดินรถฝั่งตะวันออกให้ได้ในปี 2571 คาดเปิดเดินรถทั้งระบบได้ในปี 2573 รฟม.จ่อลงนามสัญญา 18 ก.ค.นี้ ด้าน “สุรพงษ์” ยันไม่มีปัญหาสัญญาร่วมทุนเอกชน

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอผลการคัดเลือกเอกชนร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BEM เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก หลังจากที่สถานะปัจจุบัน คดีความของโครงการดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้องในทุกคดีแล้ว ขณะที่ร่างสัญญาร่วมลงทุนได้ผ่านการตรวจพิจารณาของอัยการสูงสุด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอผลการคัดเลือกเอกชน โดย BEM ได้รับการคัดเลือก และร่างสัญญาร่วมลงผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้ง เงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 140,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้กลุ่มบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก และศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินว่า คณะกรรมการคัดเลือกได้ทำตามขั้นตอนถูกต้อง และขอยืนยันว่า โครงการดังกล่าวไม่มีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายค้างคาใดๆเหลืออยู่

“เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว คาดว่าจะได้ใช้โครงการนี้ในปี 2571 โดยโครงการฝั่งตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 22.5 กม. 17 สถานี สถานีใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี สร้างเสร็จแล้ว เหลือแต่ระบบเดินรถ จากนี้ไปทาง BEM ต้องไปสั่งซื้อรถ ทำให้ปี 2571 จะเดินรถได้ส่วนหนึ่ง ส่วนฝั่งศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี (ใต้ดินตลอดสาย) จะต้องลงมือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และคาดว่าเปิดเดินรถทั้งระบบได้ในปี 2573 โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมลงนามกับ BEM ในวันที่ 18 ก.ค.2567 เวลา 14.00 น.”

นายสุริยะกล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีข้อสังเกตมายังกระทรวงคมนาคม ให้เร่งไปดำเนินการจัดทำ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ และ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าว ถือเป็นอีก 1 โครงการที่จะนำมาใช้ในนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขณะที่ค่าชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารจากนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น จะนำเงินจากการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม” มาดำเนินการ

ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า จะมีการแบ่งการเดินรถให้บริการเป็นช่วงๆก่อน โดยปัจจุบันมีช่วงของศูนย์วัฒนธรรมฯ -มีนบุรี ที่งานโยธาสร้างเสร็จแล้ว จะพยายามเร่งรัดการเดินรถในส่วนนี้ก่อน โดยคงต้องไปหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง คาดว่าใน 2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุป ส่วนงานก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ -บางขุนนนท์ กระทรวงคมนาคมเห็นว่าปัจจุบันมีความพร้อมเรื่องการส่งมอบพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินได้มีข้อสรุปทั้งหมดแล้ว และเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้

สำหรับกรณีร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด แต่ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีความเห็นว่า ครม. ไม่ควรพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีนั้น รมช.คมนาคม ยืนยันว่า ครม.ได้มีมติรับทราบร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้ว โดยเห็นว่าเป็นการลงทุนในลักษณะโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 63 นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันที่ ครม.มีมติอนุมัติ ใช้เวลารวมกว่า 4 ปี โดยโครงการดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ที่ รฟม.ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.63 ก่อนปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนกลางคัน พร้อมประกาศล้มประมูล จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มบีทีเอสซี ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกชนที่เข้าประมูล ได้ยื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 รวมการยื่นฟ้องระหว่างกัน รวมทั้งสิ้น 5 คดี โดยในขณะนี้ทุกคดีได้มีคำตัดสินเสร็จสิ้น จากนั้น รฟม.ได้เสนอผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดมาที่กระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติในครั้งนี้.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ