นักช็อปไม่หวั่นเก็บ VAT สินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นักช็อปไม่หวั่นเก็บ VAT สินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก

Date Time: 16 ก.ค. 2567 06:25 น.

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.67 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากสินค้านำเข้ามูลค่าตั้งแต่ 1-1,500 บาท หรือจัดเก็บตั้งแต่บาทแรก จากเดิมที่ได้รับการยกเว้น โดยจัดเก็บเฉพาะสินค้านำเข้าที่มีราคาตั้งแต่ 1,500 บาทขึ้นไป

การจัดเก็บภาษีในครั้งนี้ กรมศุลกากรจะรับหน้าที่จัดเก็บภาษีไปพลางก่อน จนกว่ากรมสรรพากรจะแก้กฎหมายและจัดทำระบบการจัดเก็บภาษีสำเร็จ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ และเริ่มจัดเก็บภาษีเองในปี 2568

ในมุมลูกค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยต้องชำระภาษี VAT สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท (ในกรณีสินค้านำเข้ามูลค่าเกิน 1,500 บาทขึ้นไป ต้องเสียทั้งภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม) หากสั่งสินค้าผ่านบริษัทโลจิสติกส์ ตั้งแต่ไปรษณีย์ไทย ยูพีเอส เฟดเอ็กซ์ ดีเอชแอล จะถูกเรียกเก็บภาษี VAT ซึ่งกรมศุลกากรจะประเมินภาษีจากราคาซื้อสินค้าและค่าบริการจัดส่ง ซึ่งจะปรากฏอยู่หน้ากล่องพัสดุ โดยจะมีการแปะหลักฐานเรียกชำระภาษีที่ออกโดยกรมศุลกากรที่มีคิวอาร์โค้ด (QR CODE) เพื่อให้สแกนชำระภาษีได้เลย หรือจะชำระภายหลังก็ได้

ระยะแรกผู้ส่งสินค้าต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบว่ามีภาระภาษี แต่ไม่ใช้เป็นเงื่อนไขในการไม่ส่งมอบสินค้า เพราะลูกค้าสามารถชำระภาษีหลังจากรับสินค้าได้ แต่ต้องชำระเพราะกรมศุลกากรมีระบบ ตรวจกลับอย่างแม่นยำ หากลูกค้าไม่ชำระภาษี จะถูกเรียกเก็บย้อนหลังแน่นอน

ขณะที่การสั่งสินค้านำเข้าผ่านแพลตฟอร์มมาร์เกตเพลสอย่างช้อปปี้ ลาซาด้า หรือแพลตฟอร์มของผู้ประกอบการที่มีคลังสินค้าเป็นของตัวเอง ผู้ประกอบการจะเป็นผู้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในลักษณะการเหมาจ่าย ซึ่งน่าจะบวกรวมไปกับราคาสินค้าเรียบร้อย จึงเสมือนกับว่าลูกค้าไม่ต้องรับภาระภาษี VAT ที่เพิ่มขึ้นมา

โดยวันแรกที่มีการเรียกเก็บภาษี VAT คือวันที่ 5-6 ก.ค.67 จำนวนสินค้านำเข้ามีน้อย ประกอบกับเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย คาดว่าคนกังวลเรื่องภาระภาษี ทำให้เร่งสั่งสินค้าจากต่างประเทศไว้ก่อนวันดีเดย์เก็บภาษี

แต่จากวันที่ 8–12 ก.ค.67 จำนวนสินค้านำเข้าเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติ มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เฉลี่ยวันละ 3.6 ล้านบาท และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามปริมาณการนำเข้า

สำหรับเหตุผลของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก สืบเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการสั่งสินค้าออนไลน์จากจีนเข้ามาจำนวนมาก เรียกได้ว่าสินค้าจีนทะลักเข้าไทย โดยสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทได้รับการยกเว้น VAT ขณะที่สินค้าไทยต้องจ่าย VAT ตั้งแต่บาทแรก ทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเสียเปรียบ แข่งขันได้อย่างไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะสินค้าราคาไม่แพงที่ผลิตจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

“การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น ไม่ได้เน้นการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ แต่เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งผู้ประกอบการไทยที่เรียกร้องมาตลอด เรื่องรายได้เข้ารัฐเป็นผลพลอยได้ ซึ่งคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้ปีละ 1,500- 2,000 ล้านบาท” น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรม สรรพากรกล่าว

สำหรับขั้นตอนต่อไป กรมสรรพากรจะต้องเร่งแก้ไขประมวลรัษฎากร เรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากสินค้านำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เป็นกฎหมายถาวร จากปัจจุบันเป็นการออกประกาศโดยกฎกระทรวงการคลัง โดยไม่นานจากนี้กรมสรรพากรจะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา แล้วนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายต่อไป คาดว่าก่อนสิ้นปี 2567 จะมีความชัดเจนอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นกรมสรรพากรยังกำลังพิจารณาแก้ไขกฎหมายการจัดเก็บภาษีในหลากหลายประเด็น เริ่มจากการขยายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก ลำดับต่อไปอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ กำหนดว่าหากนำรายได้ดังกล่าวเข้าประเทศ ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย.

ดวงพร อุดมทิพย์/ศุภิกา ยิ้มละมัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ