ไทยเจอ “วิกฤติเศรษฐกิจซึมยาว” ทำธุรกิจกลาง-เล็กล้มตาย แนะแบงก์ชาติปล่อยเงินเฟ้อ กระตุ้นกำลังซื้อ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยเจอ “วิกฤติเศรษฐกิจซึมยาว” ทำธุรกิจกลาง-เล็กล้มตาย แนะแบงก์ชาติปล่อยเงินเฟ้อ กระตุ้นกำลังซื้อ

Date Time: 10 ก.ค. 2567 12:08 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • CIMB มอง ไทยเจอวิกฤติเศรษฐกิจซึมยาวแบบญี่ปุ่น เงินเฟ้อต่ำเสี่ยงลาก SME ปิดตัว แนะแบงก์ชาติปล่อยเงินเฟ้อสูงขยับเข้ากรอบ กระตุ้นการบริโภค และการลงทุน เศรษฐกิจโตต่ำกดดัน กนง.หั่นดอกเบี้ยเหลือ 1.5% ปี 2568

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ทั้งปีไว้ที่ 2.3% และให้แนวโน้มสำหรับปี 2568 ที่ดูมีความหวังมากขึ้นไว้ที่ 3.2% โดยได้แรงหนุนหลักจากแนวโน้มการค้าโลกและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัว สนับสนุนภาคการส่งออก รวมถึงการเบิกจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2567 ยังต้องเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยงหลัก เรียกย่อๆ ว่า GERM


1. G – Geo-politics – ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังป่วนโลก กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือจะสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิตและขนส่ง 


2. E – Elections – การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง ซึ่งมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน โดยต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ จะมีความสำคัญต่อทิศทางการค้า การลงทุน และกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (De-globalization) ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้


3. R – Interest Rate – อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงและลากยาว แม้เราคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยช่วงกันยายนและธันวาคม จากระดับ 5.50% สู่ระดับ 5.00% ในปลายปีนี้ จากตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มแผ่วลง แต่หากเฟดยังกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลงช้า และเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น เงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทย และอาจทำให้เงินบาทพลิกกลับไปอ่อนค่าได้ต่อ ทะลุระดับ 37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แทนระดับที่เคยคาดการณ์ 37 บาทต่อ ซึ่งจะกระทบต้นทุนการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะน้ำมัน ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยปรับสูงขึ้นกว่าคาดได้ และ กนง.อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี แทนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมอย่างที่เราคาด


4. M – Manufacturing – ภาคการผลิตอาจหดตัวต่อเนื่อง ความอ่อนแอของภาคการผลิตมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา ทั้งขาดสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ขาด FDI หรือเติบโตรั้งท้ายในภูมิภาค หรือการที่ไทยนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นจำนวนมาก จนทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะตัวเลข MPI ที่หดตัวต่อเนื่อง แม้เราคาดว่าภาคการผลิตจะปรับตัวดีขึ้นไตรมาส 3 ตามการฟื้นตัวของตลาดโลกและความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่หากไทยไม่สามารถยับยั้งการเร่งระบายสินค้าจากจีน SMEs ไทยจะกระทบหนักถึงขั้นปิดโรงงาน


ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออกขณะที่อุปสงค์ภายในจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ความเสี่ยงหลักจะมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงลากยาว และภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ CIMB คาดว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยปลายปีนี้ โดยมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก

1. เฟดลดอัตราดอกเบี้ย ในเดือนกันยายนและธันวาคม คาดว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยตามหลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้แข็งเกินไป จนกระทบความสามารถการส่งออก

2. ไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต หากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถใช้ได้ทันในช่วงไตรมาส 4 ก็จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม หากดิจิทัลวอลเล็ตทันใช้ปลายปีนี้ คาดว่าจะทำให้ GDP ขยายตัวขึ้นที่ระดับ 2.5% แต่จากการตั้งข้อสังเกต พบว่ามาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบ มักจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่หลังจากนั้นคนจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ปี 2568 จึงอาจต้องระวังเศรษฐกิจโตช้าลง หลังจากที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า

แนะแบงก์ชาติปล่อยเงินเฟ้อ กระตุ้นเศรษฐกิจ 


ปัจจุบันแบงก์ชาติให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพการเงินเป็นอันดับแรก จึงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ธนาคารมองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นจนเข้ากรอบตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวล สิ่งที่น่ากังวลคือความเสี่ยงจากเงินเฟ้อต่ำที่ลากยาว อาจส่งผลกระทบให้ SME ล้มหายตายจาก ลามต่อเนื่องไปถึงการจ้างงาน กดดันความสามารถในการบริโภคในที่สุด

ซึ่งปัจจุบันแม้การบริโภคในประเทศจะยังแข็งแกร่ง แต่ด้วยเงินเฟ้อที่ต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการยั้งการขึ้นราคาสินค้า เพราะมองว่ากำลังซื้ออ่อนแอลง ดังนั้นการปล่อยให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นภายใต้กรอบ ถือเป็นเงินเฟ้อที่ดี สะท้อนว่าคนมีความสามารถในการใช้จ่าย ไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปกดให้อยู่ในกรอบ เพราะไม่สร้างแรงจูงใจในการบริโภคและการลงทุน โดย CIMB อยากเห็นขึ้นเฟ้อ ขยับขึ้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเสถียรภาพการเงิน 

เศรษฐกิจซึมยาว กนง.หั่นดอกเบี้ยแรง ปี 68

CIMB มองว่าในปี 2568 กนง.มีโอกาสที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 1.5% จากระดับ 2.25% ช่วงสิ้นปีนี้ โดยได้รับแรงกดดันจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 

1. ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำลงในระยะยาว การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลง กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุน ช่วยลดแรงกดดันระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ขณะนี้ไทยกำลังเจอ "วิกฤติเศรษฐกิจซึมยาว" เหมือนญี่ปุ่น แต่ที่แย่กว่าคือนอกจากโตต่ำแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเติบโตแบบกระจุกตัว เพราะมีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ จากความเหลื่อมล้ำสูง แม้ไทยจะหวังพึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การแจกเงินเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ช่วยพยุงไม่ให้สถานการณ์ทรุดหนัก ทั้งนี้ ต้องทำมาตรการระยะกลาง ระยะยาว ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มผลิตภาพแรงงานควบคู่ไปด้วย


2. เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีหน้าคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงถึง 3 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ซึ่งมีโอกาสทำให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม โดยในการประชุมนโยบายการเงิน 6 ครั้ง คาดว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยครั้งเว้นครั้ง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ