เอกชนแนะแก้โจทย์ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" ลุ้น "เศรษฐกิจไทย" ครึ่งปีหลัง "ฟื้น"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เอกชนแนะแก้โจทย์ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" ลุ้น "เศรษฐกิจไทย" ครึ่งปีหลัง "ฟื้น"

Date Time: 8 ก.ค. 2567 05:55 น.

Latest

ภารกิจผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่ แก้หนี้ 2.3 แสนล้าน สร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เผลอเพียงนิดเดียว เรากำลังเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม เดือนที่ 7 ของปีมังกร “งูใหญ่” และเป็นการก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2567 อย่างเป็นทางการ

หลังจากตลอดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ยังคงมีเสียงโอดครวญถึงความยากลำบาก ทั้งจากภาคธุรกิจและภาคแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าตัวเลขภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นจากช่วงโควิดที่ผ่านมา แต่เป็นการฟื้นตัวช้ามากเทียบกับประเทศอื่นๆในโลก โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตที่ระดับ 2.5-3%

และนอกจากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่คาดแล้ว เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแตกต่างกันมากในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยในขณะนี้เราจะเห็นการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ในขณะที่ภาคการผลิต การส่งออกของไทยที่ควรจะฟื้นตัวตามกำลังซื้อของโลกที่เพิ่มขึ้น กลับไม่ได้อานิสงส์นั้น เพราะติดขัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตที่สะสมความเปราะบางมาอย่างยาวนาน ทำให้ต้นทุนการผลิตของเราสูงกว่าคนอื่น สินค้าเสียความสามารถในการแข่งขัน และหลุดจากห่วงโซ่การผลิตของโลกไปอย่างน่าเสียดาย

เศรษฐกิจไทยวันนี้ จึงมีทั้งคนที่มีรายได้และความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจริง แต่ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่รายได้เพิ่มขึ้นน้อย รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย สวนทางกับจำนวนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมาก นอก

จากนั้น แม้รัฐบาลจะเริ่มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แต่แรงกระเพื่อมยังไม่เพียงพอจะสร้างจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจได้

แล้ว “ครึ่งปีหลัง” แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร โอกาสที่จะเกิด “ประกายไฟ” หรือมี “เครื่องยนต์ใหม่ๆ” ที่จะพลิกสถานการณ์เศรษฐกิจไทยให้ปรับตัวดีขึ้น จะเป็นจริงได้หรือไม่ หรือเราจะโตต่ำๆ ต่อไป ซึ่งจะทำให้คนไทยจำนวนมากเข้าสู่ภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้เสาะหาความรู้จากบุคคลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจไทยในแต่ละด้าน ทั้งทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และข้อเสนอแนะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมาฝากให้อ่านกัน

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มดีขึ้นได้ จากที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ได้เสนอเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการท่องเที่ยว การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายให้ได้มากกว่า 70% ทำให้น่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเฉลี่ยเดือนละ 45,000 ล้านบาท ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ รวมถึงการเร่งการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้”

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกต่างๆที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้โดดเด่น โดยล่าสุดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยแล้วกว่า 15 ล้านคน ประกอบกับภาคบริการและ สายการบินของไทยได้ปรับตัวและเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากขึ้น ทำให้ตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 ปีนี้ ไปจนถึงปลายปี การท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้ชัดเจน และทั้งปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะสูงถึง 35-36 ล้านคน

ขณะที่ภาคการเกษตร แม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในบางพื้นที่ ทำให้ผลผลิตน้อยกว่าปกติ แต่เชื่อว่าหลังจากเข้าสู่ฤดูฝนไปจนถึงปลายปี สถานการณ์น้ำน่าจะคลี่คลายมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตและรายได้ในภาคเกษตรดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ส่วนภาคการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวในเชิงบวกที่ 1.0%-2.0% เมื่อเทียบกับปี 2566 แม้ว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามในภูมิภาคต่างๆจะส่งผลให้ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าสูงขึ้น แต่หลายประเทศรวมถึงไทยเชื่อว่าสถาน การณ์จะค่อยๆดีขึ้น และยังสามารถส่งออกสินค้าต่อไปได้

“และหากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลสามารถเดินหน้าได้จริงในไตรมาส 4 ปีนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้ น่าจะเป็นแรงหนุนทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้ 3%”

อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยมีข้อเสนอแนะด้านนโยบายต่อรัฐบาลไทย เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.มาตรการเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่ คือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้รวดเร็วและมากที่สุด 2.ในระหว่างเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ SME จำนวนมาก ยังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ จึงอยากให้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ง่ายและสะดวก ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อช่วยให้ SME กลับมาดำเนินกิจการต่อได้ รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย

3.การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก โดยเสนอให้รัฐบาล เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดการบูรณาการมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนา ปรับปรุง และซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดย่อมในแต่ละชุมชนให้เป็นแหล่งกักเก็บสำหรับภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี โดยเร่งดำเนินโครงการผ่านงบประมาณปี 2568 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับผลผลิตและสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย

4.กระจายการลงทุนไปยังพื้นที่ต่างๆให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่เฉพาะหัวเมืองหลัก ซึ่งขณะนี้หอการค้าไทยกับรัฐบาลอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโครงการยกระดับเมืองนำร่อง 10 จังหวัด เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการลงทุน การท่องเที่ยว และยกระดับภาคเกษตร เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง และ 5.การส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน ที่เป็นโอกาสให้ SME ไทยสามารถขยาย ตลาดและสร้างการเติบโตได้ในตลาดเพื่อนบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันมูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยได้

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรก ที่ขยายตัวเพียง 1.5% ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้หลายสถาบันออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้เหลือโตต่ำกว่า 3%

“ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยแตะระดับ 36.5 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าและเริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค.มีส่วนสำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่รองบประมาณส่วนนี้ ถือเป็นความท้าทายของรัฐที่จะเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วง 3 เดือน ที่เหลือของปี”

ขณะที่ภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2567 มีมูลค่า 120,493.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 2.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 แต่ยังมีประเด็นฉุดรั้งจากปัญหา ภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้การค้าโลกชะลอตัว ค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น ปัญหาขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ จากการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือเพื่อเลี่ยงการผ่านทะเลแดง รวมทั้งผู้ส่งออกจีนเร่งส่งออกมากขึ้น เพื่อหนีการที่สหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน

อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้น เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงสัดส่วนหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง

โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ ที่ 5 เดือนแรกปี 2567 มียอดขายในประเทศ 260,365 คัน ลดลงถึง 23.80% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการหดตัวนี้ อาจฉุด GDP ให้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้

“ขณะเดียวกัน ไทยยังประสบปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ไม่เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะรถยนต์สันดาป, Hard disk drive (HDD) และผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งภาครัฐต้องช่วยเหลือและแก้ไขโดยด่วน เพื่อให้ผู้ผลิตปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงและความต้องการในตลาดโลก ตลอดจนการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้”

สำหรับการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงที่เหลือของปีนี้ เป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐ ที่จะต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ออกมาตรการได้ตรงเป้าหมาย เท่าเทียม คุ้มค่าที่สุด และที่สำคัญทำได้ทันทีในช่วงเวลาที่เหลือนี้ โดยไม่ต้องรอถึงช่วงปลายปี เพื่อเร่งเครื่องเศรษฐกิจ ซึ่งการดูแลและลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและผู้ประกอบการ ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ฯลฯ เป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง ควบคู่กับการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

ส่วนปัญหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาถูก เข้ามาทุ่มตลาดในไทยนั้น เป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมดูแลอย่างเร่งด่วน ทั้งการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานและสำแดงเท็จ เร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่นำเข้า บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยเรื่องการแสดงฉลาก และดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

“ภาครัฐต้องรอบคอบในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เพราะจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของ SME จำนวนมาก บางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อรักษาธุรกิจ หรือหากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ก็ต้องเลิกกิจการไป ส.อ.ท.จึงพยายามผลักดันแนวทางการจ่ายค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงานทดแทนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ของแรงงานควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน”

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

“ภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 2% อย่างน่ากังวลใจ 4 ไตรมาสติดต่อกัน แต่คิดว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เป็นต้นไป เราน่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยโดยรวมเริ่มฟื้นตัว โดยมี 4 ปัจจัยสำคัญมาช่วยเหลือ”

ประกอบด้วย 1.การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณส่วนที่ถูกอั้นไว้ ของรัฐบาล จากเดิมที่ต้องรอ พ.ร.บ.งบประมาณให้ผ่านสภาที่ล่าช้า มา 7 เดือน ทำให้หลายโครงการของรัฐหยุดชะงัก ซึ่งช่วง 4 เดือนที่เหลืออยู่ของปีงบประมาณ จะมีเม็ดเงินออกมาจำนวนมาก ช่วยหมุนเศรษฐกิจ และช่วยภาคก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐ

2.การท่องเที่ยวที่ฟื้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงปลายปีเราน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสูงสุดไม่ต่ำกว่า 3.5-4 ล้านคนต่อเดือน ใกล้เคียง กับช่วงก่อนเกิดโควิด 3.การส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว จากการทยอยลดดอกเบี้ยของประเทศต่างๆใน 18 เดือนข้างหน้า โลกโดยรวมจะเข้าสู่ช่วงใหม่ของการขยายตัว ส่งผลดีกับสินค้าส่งออกและผู้ผลิตไทย และ 4.คลื่นการลงทุนโดยตรงรอบใหม่จากต่างประเทศ ซึ่งปี 2566 มียอดขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งโครงการเหล่านี้กำลังจะเริ่มลงทุนก่อสร้างโรงงาน

“แต่เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาซ่อนไว้ในระดับล่าง แม้เศรษฐกิจระดับบนพอไปได้ แต่ระดับล่างมีปัญหามาก ต่อเนื่องจากช่วงโควิดจากหนี้ที่ก่อขึ้นทั้งนอกและในระบบ โดยเฉพาะการกู้ในช่วงเงินล้นในระบบ ดอกต่ำติดดิน ทำให้กู้ใช้จ่ายเกินตัว ไม่สามารถผ่อนชำระได้เมื่อแบงก์เข้มงวด ระบบการเงินตึงตัวมากขึ้น นอกจากนี้ หลายบริษัทได้กลายเป็นหนี้ NPL จากการที่เราต้องปิดประเทศเกือบ 2 ปี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จ้างงานนับ 10 ล้านคน มีผู้ประกอบการ จำนวนมาก ทำให้การกลับมาเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่มีข้อจำกัด มีอุปสรรคมาก แม้นักท่องเที่ยวจะกลับมามากกว่าเดือนละ 3 ล้านคน แต่ไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม”

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือ SME ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่โอกาสรออยู่ข้างหน้า แต่ขาดอุปกรณ์ ขาด เงินทุน และไม่สามารถกู้ยืมจากแบงก์ได้ เพราะเป็น NPL ในช่วงโควิด ซึ่งรัฐบาลสามารถสั่งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับ SME โดยเฉพาะคนที่เป็น NPL รหัส 21 ที่เกิดระหว่างโควิด ให้เขาสามารถ กลับมาได้โดยเร็ว และขยายตัวร่วมไปกับการฟื้นตัวในภาพรวมของประเทศ ซึ่งจะช่วยจ้างงานเพิ่ม สร้างรายได้ให้ประชาชน และบรรเทา ปัญหาหนี้ในระบบได้

นอกจากนี้ รัฐยังต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก อย่างการเข้าสู่ช่วง Great Transition ที่โรงงานจะต้องเปลี่ยนจากสายพานและกระบวนการผลิตแบบเดิมๆ ที่ใช้มา 30–40 ปี มาสู่ยุค Digital ยุค AI ต้องปรับโครงสร้างพลังงาน ระบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็ต้องก้าวออกสู่ภูมิภาคและตลาดโลกให้มากขึ้น เพื่อให้ทันกับยุคตลาดแห่งอนาคต หากไทยอยากประสบความสำเร็จ ชนะเพื่อนบ้าน รัฐต้องทำงานใกล้ชิดกับภาคการเงิน จัดแรงจูงใจที่เหมาะสมให้เกิดการลงทุนรอบใหญ่ นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้”

และด้านสุดท้ายที่สำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นในมาตรการของรัฐบาล ที่นักลงทุนกำลังรอดู “ชุดของมาตรการจากรัฐบาล” ที่เขาโดนใจ รอดูผลที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนโครงการใหญ่ๆในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ล่าช้ามานาน และในพื้นที่ต่างๆของประเทศว่าจะสามารถเปลี่ยนความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ ที่ “จะ” มาลงทุน มาเป็นการ “วางเสาเข็ม” และ “เปิดโรงงาน” ได้หรือไม่

รวมถึงรอดูความกล้าของเราในการตัดสินใจ และความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนประเทศไทยสู่อนาคต ที่จะทำเรื่องยากๆ ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าไทยทำได้ และไทยจะเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่เขามองข้ามไม่ได้อีกต่อไป.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ