"ดิจิทัลวอลเล็ต" ดันหนี้สาธารณะพุ่ง ครม.สัญจรปรับแผนก่อหนี้ใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"ดิจิทัลวอลเล็ต" ดันหนี้สาธารณะพุ่ง ครม.สัญจรปรับแผนก่อหนี้ใหม่

Date Time: 3 ก.ค. 2567 07:10 น.

Summary

  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.นครราชสีมา เห็นชอบให้มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 โดยแผนการก่อหนี้ใหม่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 275,870.08 ล้านบาท

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.นครราชสีมา เห็นชอบให้มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 โดยแผนการก่อหนี้ใหม่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 275,870.08 ล้านบาท จากเดิม 754,710 ล้านบาท รวมเป็น 1,030,580.71 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้ของรัฐบาลที่รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรงเพิ่มขึ้น 269,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 แผนการก่อหนี้ใหม่ที่รัฐบาลกู้มาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อเพิ่มขึ้น 3,400 ล้านบาท แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจกู้เงินเพิ่มขึ้น 3,470 ล้านบาท ขณะที่แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 33,420.32 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ปรับเพิ่มสุทธิ 54,555.17 ล้านบาท ทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 65.05% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่ 61.29% อยู่ในกรอบบริหารหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 70% ของจีดีพี

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ที่รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรงเพิ่มขึ้น 269,000 ล้านบาท มีวงเงิน 112,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.ได้มีการถกเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้เฉพาะในส่วนหนี้รัฐบาล โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เห็นควรให้กำหนดไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ รมว.คลัง 2 คน คือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล นำเสนอให้กำหนดที่ 2.5% ซึ่งในที่สุดยอด ครม.เห็นชอบให้กำหนดที่ 2.5-4%

ด้านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ให้ความเห็นว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ขีดความสามารถการชำระหนี้ของรัฐบาลมีอยู่อย่างจำกัด และยังมีปัจจัยที่เป็นตัวเร่งหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น คือ การจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 จำนวน 112,000 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 กำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลสูงถึง 865,700 ล้านบาท จึงเห็นควรให้จัดทำแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ