ไทยยังมีลุ้นได้ “ฟรีวีซ่า เชงเก้น” ทูตไทยประจำอียูย้ำรัฐเดินหน้า “ฝันที่เป็นไปได้”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยยังมีลุ้นได้ “ฟรีวีซ่า เชงเก้น” ทูตไทยประจำอียูย้ำรัฐเดินหน้า “ฝันที่เป็นไปได้”

Date Time: 28 มิ.ย. 2567 06:40 น.

Summary

  • “กาญจนา” ทูตไทยในเบลเยียม และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป (อียู) เผย “ฟรีวีซ่า เชงเก้น”เป็น “ฝันที่เป็นไปได้” แต่ต้องรออียูกลับมาพิจารณากลางปีหน้า ส่วนความคืบหน้าเจรจา FTA ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ยืนยันไทยไม่ก้าวถอยหลังในการปราบปราม IUU

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

นางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป (EU) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำเบลเยียม ถึงประเด็นที่คนไทยกำลังสนใจเรื่องยกเว้นวีซ่าเข้าสหภาพยุโรป หรือฟรีวีซ่าเชงเก้น ว่า คือความฝันที่เป็นไปได้ เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนไทยในการเดินทางมายุโรป จะช่วยให้การติดต่อในระดับประชาชนระหว่างไทยและยุโรปเป็นไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การดำเนินงานเรื่องนี้ไม่ง่าย ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป สภายุโรป และรัฐสมาชิกอียูในระดับการเมือง

“ท่านนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศได้หยิบยกกับผู้นำและรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอียูอย่างต่อเนื่อง มีเสียงตอบรับที่ดีจากหลายประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติ ปีนี้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการวางระบบตรวจคนเข้าเมืองใหม่ของอียู คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปีหน้า ดังนั้น อียูจะกลับมาพิจารณาเรื่องนี้กับประเทศต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะไทย น่าจะช่วงกลางปีหน้าไปแล้ว”

ส่วนเรื่องการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ที่จริงเริ่มตั้งแต่ปี 2550 แต่หยุดชะงักลงไปเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไทยเมื่อปี 2557 และได้มีการประกาศรื้อฟื้นการเจรจาอีกครั้งเมื่อปี 2566 และมีการเจรจาแล้ว 3 รอบ รอบที่สามระหว่างวันที่ 17-21 มิ.ย.2567 ซึ่งการกลับมาเจรจาในครั้งนี้ก็เป็นโอกาสเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย และยกระดับสถานะหุ้นส่วนทางการค้าของไทย โดยยึดหลักความยั่งยืนและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว รวมทั้งเพิ่มแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยในตลาดอียู ทั้งไทยและอียูตั้งเป้าสรุปผลการเจรจา FTA ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อขยายปริมาณการค้าระหว่างกัน

นางกาญจนากล่าวว่า การเจรจา FTA ไทย-อียู รอบที่ 3 ได้มีการหารือครอบคลุมทุกประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายไว้ อาทิ การค้าสินค้า การลงทุน มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น โดยการเจรจา FTA ส่วนใหญ่ใช้เวลายาวนาน เนื่องจากมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ยกตัวอย่างเช่น การเจรจา FTA ระหว่างอียูกับอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เจรจามาแล้ว 18 รอบ ส่วนการเจรจา FTA ระหว่างอียูกับกลุ่ม MERCOSUR ดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง

ส่วนเรื่องการปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU) ในภูมิภาค นับตั้งแต่ไทยได้ดำเนินการจนได้รับการปลดใบเหลืองในปี 2562 นางกาญจนา กล่าวว่า ฝ่ายอียูย้ำเสมอว่าไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญและเป็นตัวอย่างที่ดีในความร่วมมือกับอียู ซึ่งจากการพบหารือกับนาง Charlina Vitcheva ปลัดกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมง คณะกรรมาธิการยุโรป : DG MARE เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 ได้ยืนยันการยึดมั่นต่อพันธกรณีของไทยด้านสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงานสำหรับชาวประมง รวมทั้งความยั่งยืน พร้อมย้ำว่า ไทยไม่มีเจตนาที่จะก้าวถอยหลังในการปราบปราม IUU หรือลดมาตรฐานของไทยเมื่อเทียบกับกฎระเบียบระหว่างประเทศ และการปรับแก้กฎหมายประมงของไทยยังอยู่ในช่วงต้นของกระบวนการ

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานไทย-อียู ด้าน IUU และไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมไปแล้ว วันที่ 5-7 มิ.ย.2567 ที่กรุงเทพฯ โดยนาง Vitcheva ได้เยือนไทยเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2567 และได้พบหารือกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ซึ่งยืนยันว่า ไทยยังคงให้ความสำคัญต่อการต่อต้าน IUU และการแก้ไขกฎหมายเป็นการทบทวน ปรับปรุงให้มีความ สมดุลระหว่างการดูแลสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร และความสามารถในการแข่งขันในการเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย และไทยยังคงให้ความสำคัญกับการมีความร่วมมือด้านประมงที่ใกล้ชิดกับอียู.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ