เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดการแถลงข่าวถึงประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยสำหรับครึ่งปีหลังและปี 2568 ของ ธปท. และประเด็นสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมี นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน, นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และ นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน เป็นผู้ให้ข้อมูลและตอบคำถามสื่อมวลชน
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ให้ความเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม โดยภาคครัวเรือนการฟื้นตัวก็แตกต่างกันในแต่ละอาชีพ และระดับรายได้ ในการดำเนินนโยบายการเงิน กนง. ได้มีการพิจารณาผลกระทบอัตราดอกเบี้ยต่อภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน รวมถึงผลกระทบต่อเนื่องที่มีต่อค่าเงิน และภาวะการเงินโดยรวมของไทย
หากดูลึกลงไปว่า สาเหตุที่แท้จริงของการชะลอตัวในภาคการผลิต เกิดขึ้นเพราะอะไร อัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาหรือเปล่า เมื่อไปถามผู้ประกอบการ พบว่าต้นทุนทางการเงิน ไม่ใช่ปัญหาอันดับแรกที่กังวล เนื่องจากภาคการผลิต สัมพันธ์กับภาคการส่งออก ผู้ประกอบการจึงให้ความกังวลปัญหาการเข้าถึงตลาด และต้นทุนด้านอื่นมากกว่า เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ตลาดหลักหายไป หลังจีนที่ประกาศผลิตปิโตรเคมีเอง ทำให้การนำเข้าจากประเทศไทยลดลง หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ส่งผลกระทบต่อทั้งซัพพลายเชน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลมาก เนื่องจากนโยบายการเงินมีผลกระทบจำกัด ไม่สามารถเจาะจงแก้ปัญหาในแต่ละสาขาเศรษฐกิจได้
สำหรับแนวทางยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิต จะต้องแก้ที่โครงสร้าง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่ติดลบต่อเนื่อง 6 ไตรมาส ทั้งนี้ ภาคการผลิตมีสัดส่วนต่อ GDP ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ
โดยมีแรงงานอยู่ในภาคการผลิตเพียง 10% ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ การปรับตัว พัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะมีการปรับตัวมากน้อยแตกต่างกันไป เช่น ภาคการส่งออกที่ปรับดีขึ้น จากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกฟื้นตัว ขณะเดียวกัน ปิโตรเคมี สิ่งทอ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่น่ากังวล ต้องหาวิธีเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ต้องมีการพัฒนาภาคการผลิต ควบคู่ไปกับภาคบริการ ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศ ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการปรับตัว
ด้าน ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า ทักษะแรงงานเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าตอบโจทย์ตลาดโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะเฉพาะมากขึ้น