“จีไอ” สร้างรายได้ยั่งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“จีไอ” สร้างรายได้ยั่งยืน

Date Time: 27 มิ.ย. 2567 05:45 น.

Summary

  • กระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมและผลักดันให้สินค้าท้องถิ่นไทย สินค้าอัตลักษณ์ ขึ้นทะเบียนเป็น “สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือสินค้าจีไอเพราะล่าสุด จีไอไทย ทั้งที่ขึ้นทะเบียนในประเทศ 205 รายการ และต่างประเทศ 8 รายการ สร้างมูลค่าทางการค้าตลาดได้รวมกว่า 71,000 ล้านบาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เริ่มเห็นผล! การที่กระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมและผลักดันให้สินค้าท้องถิ่นไทย สินค้าอัตลักษณ์ ขึ้นทะเบียนเป็น “สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือสินค้าจีไอ

เพราะล่าสุด จีไอไทย ทั้งที่ขึ้นทะเบียนในประเทศ 205 รายการ และต่างประเทศ 8 รายการ สร้างมูลค่าทางการค้าตลาดได้รวมกว่า 71,000 ล้านบาท มูลค่าไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นานนัก!!

เนื่องจากสินค้าจีไอ เป็นของดี ของเด่น ของหายาก ที่ผลิตได้เฉพาะในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ผลิตได้เป็นการทั่วไปในทุกพื้นที่ จึงกลายเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนสินค้าทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคหลงใหลในความเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากสินค้าอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น ทุเรียนหมอนทอง สามารถปลูกได้ทั่วไป แต่ถ้าเป็น “ทุเรียนหมอนทองระยอง” ก็จะมีรสชาติเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับปลูกที่อื่น หรือ “ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง” ก็จะปลูกได้เฉพาะที่ปากพนัง นครศรีธรรมราชเท่านั้น ถ้าปลูกที่อื่น จะได้ลักษณะของผล เนื้อ รสชาติ สี ความหวาน ความอร่อย ไม่เหมือนกัน เพราะลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศต่างกัน

สำหรับสินค้าจีไอ 10 อันดับแรก ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ ทุเรียนหมอนทองระยอง 15,645 ล้านบาท ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา 4,890.2 ล้านบาท มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี 285 ล้านบาท มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว 107 ล้านบาท

มังคุดทิพย์พังงา 80.12 ล้านบาท มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า (จ.ฉะเชิงเทรา) 35 ล้านบาท กล้วยหอมทองเพชรบุรี 24 ล้านบาท ส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร 10.4 ล้านบาท กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก 10 ล้านบาท และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก 9.45 ล้านบาท

ขณะที่สินค้าจีไอ 10 อันดับแรกทำรายได้ในประเทศสูงสุด ได้แก่ ทุเรียนหมอนทองระยอง 20,530.8 ล้านบาท ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา 6,661.2 ล้านบาท น้ำตาลโตนดเมืองเพชร 4,813 ล้านบาท กล้วยหอมทองปทุม 3,268 ล้านบาท

มะนาวเพชรบุรี 3,061.4 ล้านบาท กุ้งก้ามกรามบางแพ (จ.ราชบุรี) 2,570 ล้านบาท ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ 2,360.5 ล้านบาท ข้าวหอมมะลิพะเยา 1,969.7 ล้านบาท ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา 1,579.2 ล้านบาท และมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว (จ.สมุทรสาคร) 1,460 ล้านบาท

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการขึ้นทะเบียนจีไอ ทำระบบตรวจสอบ และควบคุมมาตรฐาน พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมช่องทางการตลาด ฯลฯ บอกว่า

การเป็นสินค้าจีไอ ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ คาดว่า มูลค่าการตลาดจะเพิ่มขึ้นได้อีก

เพราะทูตพาณิชย์ของไทย พาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกันหาตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร-ผู้ผลิต และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก.

ฟันนี่เอส

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ