ปรับเป้ายอดขายรถลง 50,000 คัน เศรษฐกิจสะดุด-เข้มสินเชื่อ-หนี้ครัวเรือนสูง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปรับเป้ายอดขายรถลง 50,000 คัน เศรษฐกิจสะดุด-เข้มสินเชื่อ-หนี้ครัวเรือนสูง

Date Time: 26 มิ.ย. 2567 07:20 น.

Summary

  • กลุ่มยานยนต์นัดประชุมเดือน ก.ค.หารือลดประมาณการณ์ยอดขายรถในประเทศลง 50,000 คัน เหลือ 700,000 คัน แต่คงเป้าหมายส่งออกไว้ที่ 1.15 ล้านคันเช่นเดิม เผยยอดขายสะดุดเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

กลุ่มยานยนต์นัดประชุมเดือน ก.ค.หารือลดประมาณการณ์ยอดขายรถในประเทศลง 50,000 คัน เหลือ 700,000 คัน แต่คงเป้าหมายส่งออกไว้ที่ 1.15 ล้านคันเช่นเดิม เผยยอดขายสะดุดเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจขยายตัวต่ำจากการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค.นี้ กลุ่มยานยนต์จะประชุมเพื่อพิจารณาปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกของประเทศไทยในปี 2567 ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าจะปรับเป้าหมายยอดขายในประเทศตลอดทั้งปีเหลือ 700,000 คัน จากเป้าหมายเดิม 750,000 คัน หรือลดลง 50,000 คัน ขณะที่เป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ 1,150,000 คัน ยังมั่นใจว่าจะสามารถส่งออกได้ตามแผนที่กำหนดไว้จากเดิมในปีนี้ กลุ่มยานยนต์ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์รวมไว้ที่ 1,900,000 คัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังเปราะบางและกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง

โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.2567 ประเทศไทยสามารถส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ รวม 431,950.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 เฉลี่ย 7.95%

ส่วนจำนวนการผลิตภายในประเทศเมื่อเดือน พ.ค.2567 มียอดรวม 126,161 คัน ลดลงจากเดือน พ.ค.2566 เฉลี่ย 16.19% โดยเป็นการลดลงจากการผลิตรถกระบะขายในประเทศ 54.66% การผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศ 14.35% จากยอดขายในประเทศที่กระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ยังไม่พร้อมเต็มที่ แต่เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา 20.54% ขณะที่จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือน ม.ค.-พ.ค.2567 มีจำนวน 644,951 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 16.88%

ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน พ.ค.มีจำนวน 49,871 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.เฉลี่ย 6.70% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 23.38% เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การลงทุนภาครัฐลดลง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันมากกว่า 10 เดือน โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลง มีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้ รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและพลังงานมีราคาสูงขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 ที่กำลังพิจารณาในสภาฯ แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 3% หรือไม่ ยังน่ากังวล เพราะถ้ายอดผลิตรถยนต์ ยอดขายรถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ เพราะทั้ง 2 อุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องและแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกนั้น ปรากฏว่าเดือน พ.ค.สามารถผลิตได้ 88,808 คัน เท่ากับ 70.39% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือน พ.ค.2566 เฉลี่ย 1% ส่วน 5 เดือนแรก ระหว่าง ม.ค.-พ.ค.2567 สามารถผลิตเพื่อส่งออกได้ 434,416 คัน เท่ากับ 67.36% ของยอดการผลิตทั้งหมดลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ประมาณ 2.54%

ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เมื่อเดือน พ.ค.สามารถผลิตได้ 37,353 คัน เท่ากับ 29.61% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือน พ.ค.2566 เฉลี่ย 38.57% และเดือน ม.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมาผลิตได้ 210,525 คัน เท่ากับ 32.64% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือน ม.ค.-พ.ค.2566 เฉลี่ย 36.23%.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ