ดาวเทียม OneWeb ใช้ไทยเป็นฮับภูมิภาค

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดาวเทียม OneWeb ใช้ไทยเป็นฮับภูมิภาค

Date Time: 18 มิ.ย. 2567 06:05 น.

Summary

  • ผู้ให้บริการดาวเทียม OneWeb จากประเทศอังกฤษ จะเริ่มต้นให้บริการเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย หลังจากการก่อสร้างสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดิน (SNP) แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. และจะใช้เวลา 1 เดือน จากนั้นทดสอบการเชื่อมต่อ เพื่อให้มั่นใจก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย.ที่จะถึง

Latest

จีนเร่งกระจายฐานการผลิต "ผู้ผลิตแบตเตอรี่ - อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง" ตบเท้าลงทุนไทย พุ่ง!

ไม่เป็นข่าวครึกโครมเท่าใด แต่ไม่เกินเดือน ก.ย.2567 นี้ ผู้ให้บริการดาวเทียม OneWeb จากประเทศอังกฤษ จะเริ่มต้นให้บริการเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย หลังจากการก่อสร้างสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดิน (SNP) แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. และจะใช้เวลา 1 เดือน จากนั้นทดสอบการเชื่อมต่อ เพื่อให้มั่นใจก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย.ที่จะถึง

การได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทำให้ OneWeb กลายเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมรายแรกของประเทศไทย โดยเป็นการเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เนื่องจากประเทศไทยไม่อนุญาตให้ดาวเทียมต่างประเทศเข้ามาลงทุน หรือให้บริการโดยตรงได้ ต้องผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรสัญชาติไทยเท่านั้น

ใบอนุญาตที่ OneWeb และ NT ได้รับการอนุมัติผ่านที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 ประกอบด้วย 1.ใบอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb โดยมีระยะเวลา 5 ปี 2.ใบอนุญาตบริการขายความจุดาวเทียม (Satellite Network Capacity) ตามระยะเวลาใบอนุญาตของ NT ที่จะสิ้นสุด ก.ย. 2568 3.ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดินและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระยะเวลา 5 ปี

กว่าจะได้ใบอนุญาต จาก กสทช. OneWeb ต้องเผชิญวิบากกรรมไม่น้อย บอร์ดใช้เวลาพิจารณานาน เนื่องจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการดาวเทียมไทยภายใต้ใบอนุญาต กสทช. ส่งหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีอนุญาตให้ผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการ ในไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการแย่งชิงฐานลูกค้าอย่างไม่เป็นธรรม แต่ ในที่สุดบอร์ด กสทช.ก็อนุมัติให้ OneWeb เข้ามาให้บริการได้

OneWeb เป็นผู้ให้บริการดาวเทียมจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเพิ่งควบรวมกิจการกับ Eutelsat Group จากฝรั่งเศส ภายใต้ชื่อใหม่ Eutelsat OneWeb เป็นผู้ให้บริการดาวเทียมรายเดียวในโลก ที่มีทั้งดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (GEO) จำนวน 35 ดวง และดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) 634 ดวง

สำหรับในไทย OneWeb เตรียมให้บริการโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ Low Earth Orbit (LEO) ซึ่งร่วมกับ NT ส่วนการให้บริการ (Service) ทำตลาดผ่านพันธมิตรการจัดจำหน่าย (DPs) 3 ราย ได้แก่ NT, บริษัท เนชั่นสเปซและเทคโนโลยี จำกัด Ltd (NSAT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง NT และไทยคม และบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (MuSpace)

นาเฮ อิทนานี รองประธานกรรมการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก OneWeb เปิดแถลงข่าวแผนธุรกิจของ OneWeb ในประเทศไทยว่า จุดแข็งของดาวเทียม LEO คือการให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่มีความหน่วงต่ำ (Low Latency) ทำให้เชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ดาวเทียม GEO มีระดับความสูงที่ประมาณ 36,000 กม. แต่ละดวงครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1/3 ของพื้นผิวโลก ดาวเทียม GEO จึงมีจุดเด่นด้านบริการที่ครอบคลุม

“ดาวเทียม OneWeb LEO โคจรรอบโลกที่ระดับความสูง 1,200 กม. หรืออยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวเทียม GEO เกือบ 30 เท่า ครอบคลุมพื้นที่เล็กกว่า จึงจำเป็นต้องมีดาวเทียมจำนวนมากเพื่อครอบคลุมพื้นผิวโลกทั้งหมด ทำให้เข้าถึงพื้นที่ที่การเชื่อมต่อเข้าถึงยาก ทั้งในภาคพื้นดินที่ห่างไกล มหาสมุทรและท้องฟ้า เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารบนเรือเดินทะเล เครื่องบิน และสถานที่ห่างไกลบนบก ลูกค้าเป้าหมายของ OneWeb ส่วนใหญ่จึงเป็นลูกค้าองค์กรธุรกิจ การให้บริการเป็นลักษณะเสริมความสามารถของดาวเทียม GEO มากกว่า”

OneWeb ซึ่งให้บริการดาวเทียมทั่วโลก มองว่าบริการดาวเทียมไม่สามารถจำกัดพื้นที่ได้ เพราะดาวเทียมอยู่บนฟ้า อาณาบริเวณที่ให้บริการครอบคลุมกว้างใหญ่ไพศาล อย่างไรก็ตาม OneWeb พร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในส่วนประเทศไทยจึงทำร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ไทย สำหรับการลงทุนร่วมกับ NT ในครั้งนี้ มีมูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลักๆเป็นการสร้างสถานีเกตเวย์ที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ใช้เป็นฮับในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับวิถีวงโคจรของโครงข่ายดาวเทียม LEO ด้วยความจุประมาณ 5 gbps โดยจะให้บริการครอบคลุมภูมิภาคอินโดจีน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ส่วนเมื่อถามว่าการเข้ามาของ OneWeb จะส่งผลดีต่อราคาบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับผู้บริโภคชาวไทยหรือไม่ รองประธานกรรมการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก OneWeb บอกว่าพูดยาก เพราะปัจจุบันไม่อาจกล่าวได้ว่าการลงทุนในดาวเทียม LEO มีมูลค่าต่ำกว่าดาวเทียม GEO เพราะมีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่คุณภาพบริการผ่าน LEO มีจุดเด่นเรื่องความเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงยาก ซึ่งนั่นจะเป็นทางเลือกที่ทำให้คุณภาพของบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ในพื้นที่ห่างไกล ดีขึ้นอย่างแน่นอน.

ศุภิกา ยิ้มละมัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ