แรงงานผวา “โรงงานไทย” ปิดตัวเกลื่อน! ไม่ถึง 2 ปี ล้มแล้ว 1,700 แห่ง คนตกงาน 42,000 ตำแหน่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แรงงานผวา “โรงงานไทย” ปิดตัวเกลื่อน! ไม่ถึง 2 ปี ล้มแล้ว 1,700 แห่ง คนตกงาน 42,000 ตำแหน่ง

Date Time: 10 มิ.ย. 2567 17:27 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • เสี่ยง! อัตราว่างงานในประเทศสูงขึ้น หลังโรงงานไทยปิดตัวเกลื่อน KKP Research เผย ไม่ถึง 2 ปี โรงงานล้มแล้ว 1,700 แห่ง เลิกจ้าง 42,000 ตำแหน่ง สะท้อนภาพ สัญญาณไม่ดี “เศรษฐกิจไทย”

Latest


หลังจากมีการปิดตัวของหลายๆ โรงงาน เช่น โรงงานผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง ซูซูกิ ประกาศปิดกิจการในไทยทั้งหมดภายในปี 2568 การปิดกิจการของบริษัทหรือธุรกิจเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อเจ้าของกิจการ พนักงาน และสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างงานอย่างกะทันหันส่งผลให้พนักงานสูญเสียรายได้ทันที ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องเผชิญกับปัญหาการชำระหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมา นับว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับเศรษฐกิจในประเทศไทย

โรงงานปิดตัวพุ่ง เฉลี่ย 159 โรงงานต่อเดือน

KKP Research เผยข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2023 โดยพุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนจากปกติเฉลี่ยเพียง 57 โรงงานต่อเดือน ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบจากการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

ไม่ใช่เพียงแค่โรงงานปิด แต่โรงงานเปิดใหม่ก็ลดน้อยลงเช่นกัน โดยมีจำนวนโรงงานเปิดใหม่เพียง 50 โรงงานต่อเดือน จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน การปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมาพบว่าส่วนมากเป็นโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ในภาวะที่อ่อนแอซึ่งสะท้อนจากดัชนีการผลิตที่หดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี ซึ่งนับเป็นการหดตัวติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุด

อย่างไรก็ตามการพิจารณาภาคการผลิตในภาพรวมอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ของบางกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่กว่าค่าเฉลี่ย โดยอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงที่จะปิดตัว ได้แก่ กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร

 

โรงงานไทย แห่ปิดตัวบอกอะไรเรา?

ปัญหาที่ตามมาหลังจากโรงงานปิดตัวคือ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคอุตสาหกรรม

ในช่วงที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มมีทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคและการผลิตของโลก ภาวะการค้าโลกที่ฟื้นตัวในระยะต่อไปจึงไม่ได้หมายความว่าภาคการผลิตไทยจะฟื้นตัวได้ดีเสมอไป โดย KKP Research แบ่งหมวดสินค้าในภาคการผลิตไทยเป็น 3 กลุ่ม คือ

  • การผลิตที่ยังเคลื่อนไหวตามวัฏจักรปกติ เป็นกลุ่มสินค้าที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้หากอุปสงค์กลับมาเติบโตขึ้นซึ่งคิดเป็นประมาณ 47% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด
  • การผลิตที่ปรับตัวลดลงตามสินค้าคงคลังที่สูง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ในช่วงที่ผ่านมามีระดับสินค้าคงคลังที่สูงกว่าปกติมาก และอาจกลับมาปรับตัวดีขึ้นได้บ้างเมื่อสินค้าคงคลังเริ่มปรับตัวลดลง
  • การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การผลิต Hard Disk Drive ที่ถูกทดแทนด้วย Solid State Drive ซึ่งส่งผลกระทบให้การผลิต HDD หดตัวต่อเนื่องมานาน หรือการผลิตเหล็กที่ถูกทดแทนด้วยการแข่งขันจากสินค้าจีน KKP ประเมินว่าสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นกว่า 35% ของมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตทั้งหมด

ถึงแม้ว่าข้อมูลเดือนล่าสุดของการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาเป็นบวกในรอบมากกว่า 1 ปี และหลายฝ่ายยังหวังว่าจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับดีขึ้นจะกลับมาช่วยภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม KKP Research ยังคงมีความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว เนื่องจาก มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน, มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลักอย่างรถยนต์ EV

KKP Research ยังประเมินว่าการเร่งดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นต้องทำ ควบคู่ไปกับการหาเครื่องยนต์ใหม่มาทดแทนเครื่องยนต์เดิมของเศรษฐกิจที่หายไป มิเช่นนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโตต่ำลงไปเรื่อยๆ

ที่มา : KKP Research 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ