แรงงานต่างด้าวในไทย พุ่ง! ณ สิ้นปี 2566 รวม 1.3 ล้านคน แต่มีกลุ่มทักษะสูง แค่ 1.5 แสนคนเท่านั้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แรงงานต่างด้าวในไทย พุ่ง! ณ สิ้นปี 2566 รวม 1.3 ล้านคน แต่มีกลุ่มทักษะสูง แค่ 1.5 แสนคนเท่านั้น

Date Time: 6 มิ.ย. 2567 10:38 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย เผย แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แค่ในระบบประกันสังคม ณ สิ้นปี 2566 พุ่ง 1.3 ล้านคน แต่มีกลุ่มทักษะสูง แค่ 1.5 แสนคน ขณะ แรงงาน เมียนมา กัมพูชา ลาว จีน แนวโน้มเร่งตัวมากสุด

Latest


ประเทศไทย กำลังเผชิญกับ สถานการณ์ท้าทาย จากประชากรในวัยทำงานลดลงอย่างมาก นี่เองทำให้เราต้องอาศัย “แรงงานต่างด้าว” หรือ “แรงงานต่างชาติ” จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน ในภาคการผลิต การเกษตร และอุตสาหกรรมต่างๆ 

บนข้อกังวล แม้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ จะเข้ามาทำงานในกลุ่ม 3D ที่แรงงานไทยมักปฏิเสธ คือ งานอันตราย (Danger) งานที่มีความสกปรก (Dirty) และงานที่มีความยุ่งยาก (Difficult) ตามกฎหมายไทย แต่มีแนวโน้มที่จะขยายขอบเขตการทำงานเข้าไปยังประเภทธุรกิจอื่นมากขึ้น ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่แรงงานไทยจะถูกแย่งงานได้


สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุด ของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยว่า สัดส่วนแรงงานต่างชาติในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลูกจ้างในระบบ (ครอบคลุมโดยประกันสังคม มาตรา 33) ของไทย ที่มีอัตราการเติบโตราว 15%  จาก 10.2 ล้านคน เมื่อปี 2554 เป็น 11.9 ล้านคน ในปี 2566 ที่ผ่านมา

พบว่า 55% ของลูกจ้างในระบบที่เพิ่มขึ้นมานั้น ล้วนมาจากการโตของจำนวนลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวแทบทั้งสิ้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมแรงงานอีกบางส่วน ที่เป็นลูกจ้างที่ทำงานบ้าน งานเกษตร ประมง ขนส่งทางทะเล หรือองค์กรระหว่างประเทศก็ไม่ได้ครอบคลุมอยู่ในระบบประกันสังคม และแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมาก 

และเมื่อวัดเป็นสัดส่วน จะพบได้ว่า ไทยมีสัดส่วนแรงงานต่างชาติในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิม เพียง 4% ในปี 2554 เพิ่มสูงขึ้นมาถึง  11% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา 

“การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวนั้น เริ่มสูงขึ้นในปี 2560 แต่มาชะลอและลดลงช่วงโควิด-19 จนปี 2565 จำนวนแรงงานต่างชาติในไทยได้ฟื้นตัวและกลับมาสูงถึงระดับก่อนช่วงโควิด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุด ไทยมีจำนวนแรงงานต่างชาติในระบบกว่า 1.3 ล้านคน” 

8 อันดับ แรงงานต่างด้าว สูงสุดในไทย 

สำหรับ “แรงงานต่างด้าว” ในไทย รายสัญชาติ พบว่า แรงงานจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน และจีน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่วนแรงงาน จากสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น กลับมีจำนวนน้อยลง

  • อันดับ 1 : เมียนมา
  • อันดับ 2 : กัมพูชา 
  • อันดับ 3 : ลาว 
  • อันดับ 4 : จีน 
  • อันดับ 5 : ญี่ปุ่น 
  • อันดับ 6 : ฟิลิปปินส์ 
  • อันดับ 7 : อินเดีย
  • อันดับ 8 : สหราชอาณาจักร 


เมื่อแบ่ง แรงงานต่างด้าว ตามระดับเงินเดือน จากข้อมูล ณ เดือน ธันวาคม ปี 2566 จะเห็นว่าแรงงานต่างชาติในระบบ 1.3 ล้านคน ได้เงินเดือนน้อยกว่า 15,000 ซึ่งน่าจะเป็นงานทักษะต่ำกว่า 89% และโดยส่วนมากมาจากสามประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ส่วนแรงงานที่ได้เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งน่าจะเป็นแรงงานทักษะกลางถึงสูง มีเพียง 1.5 แสนคน เท่านั้น 

หรืออนาคตไทยจะต้องพึ่ง "แรงงานต่างด้าว" เพิ่มขึ้น?


ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ ชี้ว่า ภายใต้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในไม่ช้า อัตราเฉลี่ยการเพิ่มของแรงงานไทยในระบบอยู่ที่เพียง 0.81% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นี่เองอาจทำให้ในอนาคต ต้องมีการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นชวนคิดว่า รัฐบาล จะมีการปรับตัวในเชิงนโยบายอย่างไร เช่น การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติให้ครอบคลุม เพื่อป้องกันปัญหาทางสังคมที่อาจตามมาอย่างไร หรือให้แรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติมาทำงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง 

ขณะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยสะท้อนปัญหาเอาไว้ว่า ในอดีต ประเทศไทย เคยมีบทเรียนจากการที่แรงงานต่างด้าวหนีกลับประเทศจนมีการขาดแคลนแรงงานมาแล้ว 


ดังนั้น เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในระยะข้างหน้า รัฐควรเร่งสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดและให้บริการในภาคบริการ การใช้วัสดุสำเร็จรูปในภาคก่อสร้าง การใช้โดรนในภาคเกษตรกรรม หรือแม้แต่การใช้ช่องทางออนไลน์ สำหรับภาคการค้า เพื่อลดต้นทุนในการจ้างแรงงานและเพิ่มผลิตภาพในการดำเนินธุรกิจด้วย 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์