เที่ยวเมืองรองสัมมนาลดภาษี อยู่กันแบบซังกะตาย?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เที่ยวเมืองรองสัมมนาลดภาษี อยู่กันแบบซังกะตาย?

Date Time: 6 มิ.ย. 2567 06:05 น.

Summary

  • ดูเหมือน รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียนได้อยู่ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง-โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สอง-กระตุ้นการท่องเที่ยว

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ดูเหมือน รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียนได้อยู่ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง-โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สอง-กระตุ้นการท่องเที่ยว ล่าสุด การประชุม ครม.วันอังคาร เห็นชอบให้เพิ่มงบประมาณปี 2567 อีก 122,000 ล้านบาท ซึ่งต้องกู้เพิ่มภายใต้งบประมาณปี 67 เพื่อนำไปแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลต้องกู้ทั้งหมด 500,000 ล้านบาท แจกให้คน 50 ล้านคน ไปซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อของบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาด หลักทรัพย์ แข่งกับแม่ค้าในตรอกซอกซอย และแม่ค้าบ้านนอกทั่วประเทศ แล้วแม่ค้ารถเข็นจะขายสู้ได้หรือไม่ สุดท้ายเงิน 5 แสนล้านบาท จะหมุนไปอยู่กระเป๋าใคร เด็ก ป.4 ก็คงตอบได้

เรื่องที่ 2 ครม.เห็นชอบให้กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง การท่องเที่ยวในประเทศช่วงโลว์ซีซัน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-30 พฤศจิกายน โดยลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายให้ดังนี้

1.มาตรการภาษีกระตุ้นสัมมนาในประเทศสำหรับนิติบุคคล บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายห้องสัมมนา ห้องพัก ค่าขนส่ง หรือค่าใช้จ่ายอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาในประเทศที่จัดให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาหักเป็นรายจ่ายเพื่อลดภาษีได้ ถ้าจัดใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” หักรายจ่ายได้ 2 เท่า ถ้าจัดในจังหวัดอื่นหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า 2.มาตรการภาษีกระตุ้นเมืองท่องเที่ยวรองสำหรับบุคคลธรรมดา ค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม หรือโฮมสเตย์ สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายในภาษีเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท

คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยคลัง แถลงว่า การท่องเที่ยวไทยจะสูงในไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ส่วนไตรมาส 2-3 จะเป็นจุดอ่อน จึงเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นการคลังที่ปิดจุดอ่อน กระตุ้นการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในช่วงโลว์ซีซันและเมืองรอง การกระตุ้นเศรษฐกิจลักษณะนี้จะมีเม็ดเงินลงไปคูณสอง และสูญเสียรายได้ภาษีค่อนข้างน้อยประมาณ 1,700 ล้านบาท แต่สร้างแรงจูงใจมาก มีผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจค่อนข้างสูง

แต่มีรายงานข่าวว่า กระทรวงการคลังได้ประเมินเม็ดเงินที่ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ดูแล้วค่อนข้างน้อย มาตรการลดหย่อนภาษีสัมมนา คาดว่าจะเสียรายได้ภาษี 1,200 ล้านบาท มีนิติบุคคลใช้สิทธิ 2,000 ราย ใช้จ่ายรายละ 3 ล้านบาท มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 6,000 ล้านบาท ส่วน มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง คาดว่าจะสูญเสียรายได้ ภาษี 581 ล้านบาท จากการคาดว่า จะมีผู้ใช้สิทธิ 250,000 คน

เห็นตัวเลขแล้วก็นึกไม่ออกว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร

แต่เอาเถอะ คิดได้แค่นี้ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะตอนนี้ สำนักวิจัยกรุงศรีได้ปรับลดจีดีพี ปี 67 ลงมาเหลือ 2.4% แล้ว สวนทางกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจว่า ประชาชนพอใจมากถึงมากที่สุด 44.3% ต่อการทำงานของรัฐบาล และพึงพอใจมากถึงมากที่สุด 44.3% ต่อการบริหารงานของรัฐบาล

แต่ โลกความจริงเป็นอย่างไร ไปอ่านรายงานของ “วิจัยกรุงศรี” ดูก็แล้วกันครับ วิจัยกรุงศรีปรับลดจีดีพี ปี 67 จาก 2.7% ลงเหลือ 2.4% จากเหตุผล การส่งออกที่อ่อนแอมีแนวโน้มเติบโตต่ำเพียง 1.8% (จากเดิม 2.5%) ผลจาก “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” (ที่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีปัญญาแก้ไข) ทำให้การส่งออกกระจุกตัวในสินค้ามูลค่าต่ำ ความสามารถการแข่งขันของไทยที่ลดลง (รัฐบาลไม่เคยพูดถึงเลย) การศึกษาของวิจัยกรุงศรียังพบว่า ประสิทธิภาพของแรงงานไทย (Labor Productivity) หลังโควิดลดลงถึง 1.6% ต่อปี ลดชัดเจนในหลายอุตสาหกรรม (แต่รัฐบาลก็ไม่ได้แก้ไข) ภาคส่งออกยังเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต

ส่วน เวลาที่เหลือของปีนี้ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวตามวัฏจักร การท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35.6 ล้านคน

ยิ่งอ่านยิ่งวิเคราะห์ก็ยิ่งเป็นห่วง เราจะปล่อยให้เศรษฐกิจอยู่แบบซังกระตายอย่างนี้ต่อไป เพราะ รัฐบาลคิดอะไรไม่ออก แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ อย่างงั้นหรือ.


"ลม เปลี่ยนทิศ"

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ