คลังเล็งรีดภาษีบริษัทข้ามชาติ จ่อชง ครม.เคาะจัดเก็บรายได้เพิ่ม 2 หมื่นล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังเล็งรีดภาษีบริษัทข้ามชาติ จ่อชง ครม.เคาะจัดเก็บรายได้เพิ่ม 2 หมื่นล้าน

Date Time: 4 มิ.ย. 2567 07:00 น.

Summary

  • “จุลพันธ์” จ่อชง ครม.เคาะแพ็กจัดเก็บรายได้เพิ่ม ทั้งรีดภาษีบริษัทข้ามชาติปีละ 20,000 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับสินค้านำเข้า ตั้งแต่บาทแรก

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

“จุลพันธ์” จ่อชง ครม.เคาะแพ็กจัดเก็บรายได้เพิ่ม ทั้งรีดภาษีบริษัทข้ามชาติปีละ 20,000 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับสินค้านำเข้า ตั้งแต่บาทแรก ส่วนจัดเก็บรายได้ช่วง 7 เดือน ปีงบ 67 พลาดเป้า 3.9 หมื่น ล้านบาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ รมว.คลังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการออก พ.ร.บ.เพื่อจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ ซึ่งกำหนดภาษีเงินได้ขั้นต่ำของภาคธุรกิจต้องไม่น้อยกว่า 15% ตามข้อตกลงองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) คาดว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขกฎหมายภายในปลายปีนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 68

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้นำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ แต่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นห่วงว่าจะดำเนินการไม่ทันตามกรอบเวลา เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ แต่กระทรวงคลังได้แจ้งที่ประชุมว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการ และยืนยันว่าจะทำได้ทันตามกรอบเวลาเดิม เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และช่วยให้จัดเก็บรายได้เพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท

“แนวคิดการจัดเก็บภาษีธุรกิจดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงโออีซีดี เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมด้านการจัดเก็บ และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี โดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้จากการให้บริการทั่วโลกตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป จะต้องแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีไปให้ประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราขั้นต่ำ 15% เช่น กรณีที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน หรือให้บริการในไทย เมื่อมีรายได้รวมกันทั่วโลกตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป หากกฎหมายดังกล่าวของไทยมีผลบังคับใช้ ไทยก็จะสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ 15%”

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติมาตรการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยระยะแรกจะให้กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้แทนสรรพากรไปก่อน เนื่องจากต้องปรับระบบภายในของกรม สรรพากร และเชื่อมแพลตฟอร์มต่างประเทศด้วย “การเดินหน้าเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าที่นำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ในระยะกลางจะเชื่อมในประเทศ และระยะยาว หรือ คาดว่าภายในปีหน้า จะมีการเชื่อมระบบกับ ต่างประเทศด้วย”

นายจุลพันธ์กล่าวต่อถึงแนวคิดการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) กลับมาใช้ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะนำกลับมาใช้หรือไม่ แต่ได้นำเอาข้อมูลของกองทุนดังกล่าวมาศึกษาแล้ว โดย ครม.เศรษฐกิจได้หารือถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งระหว่างนี้ จนถึงปลายปีจะต้องมีมาตรการใหม่ออกมาดูแลเศรษฐกิจ ส่วนจะทำแอลทีเอฟหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบาย อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลมีกองทุนรวมส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศ ไทย (กองทุนไทยอีเอสจี) อยู่แล้ว และอาจขยาย กองทุนดังกล่าวเพื่อกระตุ้นการลงทุนต่อไป

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ในช่วง 7 เดือน ของปีงบ ประมาณ 67 (เดือน ต.ค.66-เม.ย.67) จัดเก็บรายได้สุทธิ 1.38 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณ การตามเอกสารงบประมาณ 39,102 ล้านบาท หรือ 2.7% เป็นผลจากมาตรการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน และการจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้ต่ำกว่าประมาณการ ทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ

“รายได้รัฐบาลสุทธิจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 53,130 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5%”

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรม สรรพากร รวมกันอยู่ที่ 1.46 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 35,498 ล้านบาท หรือ 2.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 38,876 ล้านบาท หรือ 2.7%.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ