แนะรัฐจัด “จับคู่คนโสด” สศช.เผยคนไทยเป็นโรคจิตมากขึ้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แนะรัฐจัด “จับคู่คนโสด” สศช.เผยคนไทยเป็นโรคจิตมากขึ้น

Date Time: 28 พ.ค. 2567 05:50 น.

Summary

  • สศช.เปิดภาวะสังคมไทยเป็นโรคจิตมากขึ้น สัดส่วนสูงกว่า ค่าเฉลี่ยระดับโลก คนเครียด เสี่ยงซึมเศร้า สร้างความสูญเสีย ทางเศรษฐกิจอย่างคิดไม่ถึง ชี้คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น แนะรัฐบาลสนับสนุนเครื่องมือการ “จับคู่คนโสด” พบครัวเรือนไทยอีกรูปแบบ หรือแซนด์วิช เจเนอเรชัน

Latest

จีนเร่งกระจายฐานการผลิต "ผู้ผลิตแบตเตอรี่ - อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง" ตบเท้าลงทุนไทย พุ่ง!

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 โดยพบปัญหาสุขภาพจิต ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย ซึ่งข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 ประเด็นที่น่ากังวลคือ แม้ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ ไม่ได้เข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก

ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน โดยวันที่ 1 ต.ค. 2566-22 เม.ย.2567 พบผู้มีความเครียดสูงถึง 15.48% เสี่ยงซึมเศร้า 17.20% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% ซึ่งแย่ลงกว่าในปีที่ผ่านมา ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลกพบว่าภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไป 12,000 ล้านวัน สร้างความสูญเสีย ทางเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถ ดูแลตนเองได้

“สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วย กลุ่มโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆรวมกัน และพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง 8.59 ต่อประชากรแสนคน บริษัท Kisi พบว่า ปี 2565 กรุงเทพฯอยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการแก้ไขจริงจัง”

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการมีลูก โดยมีเป้าหมายไปที่คนมีคู่เพื่อแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปีที่ผ่านมาพบว่า คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น คิดเป็น 23.9% หากพิจารณาเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์ มีสัดส่วน 40.5% สูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 35.7% โดยมีค่านิยมทางสังคมของการเป็นโสดยุคใหม่ อาทิ SINK (Single Income, No Kids) หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก เน้นใช้จ่ายเพื่อตนเอง มี 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ดี จบการศึกษาสูง รวมทั้ง Waithood หรือกลุ่มคนโสดที่เลือกรอคอยความรัก เนื่องจากความไม่พร้อม ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

“คนโสดมีชั่วโมงการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ และกรุงเทพฯจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ทำให้คนโสดไม่มีโอกาสในการมองหาคู่ โดยนโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องครอบคลุม ความต้องการของคนโสด รัฐบาลจึงควรสนับสนุนเครื่องมือการจับคู่คนโสด โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้คนโสด เข้าถึงได้มากขึ้น และส่งเสริมการมี Work-life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มโอกาสให้คนโสดมีเวลาพบปะกัน”

ทั้งนี้ ครัวเรือนไทยอีกรูปแบบที่เรียกว่า แซนด์วิช เจเนอเรชัน มักใช้เรียกคนที่อยู่ตรงกลาง ที่ต้องรับผิดชอบดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกของตนเอง มี 3.4 ล้านครัวเรือน ในปี 2566 คิดเป็น 14.0% ของครัวเรือนทั้งหมด คนกลุ่มนี้มีภาระต้องแบกรับ ทำให้มีความเปราะบางทางการเงิน โดย 49.1% ของครัวเรือนกลุ่มนี้มีรายได้สุทธิคงเหลือน้อยกว่า 10% และ 69.8% ยังมีภาระหนี้สิน.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ