หากคุณมี รายได้ต่อปี มากกว่า 5,000,000 บาท ขึ้นไป อัตราภาษีที่คุณต้องจ่ายให้รัฐ คือ 35% ของรายได้ทั้งหมด แต่รู้หรือไม่? จากข้อมูลตัวอย่าง ของกรมสรรพากร พบ มูลค่าเฉลี่ยของกลุ่ม Top 1% ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสียภาษีมากที่สุดในประเทศไทย ต่างจ่ายอัตราภาษีเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 20.2% เท่านั้น จากปัญหาช่องว่างระบบภาษีของไทย ค่อนข้างให้สิทธิค่าลดหย่อนต่างๆ เป็นจำนวนมาก
ข้อมูลวิจัย ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หลายปีก่อนหน้า ยังเผยว่า กลุ่ม TOP 1% ครอบคลุมทั้งนักธุรกิจระดับชั้นแนวหน้า และเป็นสมาชิกในครัวเรือนที่มั่งคั่งสูง รวมไปถึง ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเอกชนชั้นนำ โดยเฉพาะในวิสาหกิจระดับ top 100 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาจมีรายได้ต่อปี สูงถึง 20-30 ล้านบาท หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทหารและพลเรือนระดับสูง ตลอดจนผู้บริหารภาคเอกชน ต่างมีรายได้ เฉลี่ยที่ 5.5 ล้านบาทต่อปี (ปัจจุบันอาจสูงกว่าตัวเลขดังกล่าว)
ตัดภาพมาที่ กลุ่มคนฐานล่างของพีระมิดรายได้ หรือ ชนชั้นแรงงานไทย ต้องยอมรับว่า วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างรอยแผลเป็นถาวรต่อความเหลื่อมล้ำของไทย ระหว่างคนรวย และคนระดับแรงงาน ให้กว้างขึ้นไปอีก
ข้อมูลวิจัยของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในหัวข้อ : ทางรุ่งหรือทางตัน โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของแรงงานไทยในภาคเศรษฐกิจในระบบ เผยรายละเอียด ให้เราเห็นภาพความจริง และ ความยากลำบาก ในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจของ “แรงงานไทย” อันส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ การกินดี-อยู่ดี ที่ห่างไกลมากขึ้น
ในรายงานชุดนี้ พบว่า ความเหลื่อมล้ำของรายได้คนไทยเพิ่มขึ้น และมักเกิดจากกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นสำคัญ โดยพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์เกี่ยวกับกระจายรายได้ และความเหลื่อมล้ำ ในสังคม ช่วงปี 2552-2561 มีความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งเมื่อนำ ส่วนล่าง “รายได้” ของคนฐานะปานกลางและคนที่ค่อนข้างยากจน มาเปรียบเทียบกัน และนำ ส่วนบน “การกระจายรายได้” ของคนรวยและคนฐานะปานกลางมาเปรียบเทียบ
พบว่าความเหลื่อมล้ำที่ส่วนล่างนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่ส่วนบนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ งานศึกษายังพบว่า Top 1% มีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มอย่างเห็นได้ชัด จากราว 9% ในปี 2552 เป็น 11% ในปี 2561 และตรงกับ ข้อมูลตารางสถิติภาษี ซึ่ง สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
งานศึกษายังพบว่า ราว 35% ของแรงงานไทย จะยังคงอยู่ในกลุ่ม decile รายได้เดิมในช่วงระยะเวลา 10 ปี ซึ่งระดับความน่าจะเป็นของการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมนี้จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำสุด และกลุ่มรายได้สูงสุด (ราว 51% และ 69% ตามลำดับ) ทั้งนี้ ความน่าจะเป็นของการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมที่สูง หมายถึง โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ที่ต่ำนั่นเอง
"พบว่าแรงงานไทยมีระดับการเลื่อนชั้นรายได้ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทั้งในแง่ของการเลื่อนชั้นโดยรวม และการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมของกลุ่มรายได้สูงสุด 1%"
ขณะที่ ยังมีข้อสังเกตสำคัญ พบ เพศ, อายุ และประเภทของงาน ก็มีผลต่อการเลื่อนชั้นทางรายได้เช่นกัน โดย ในงานวิจัยดังกล่าว พบว่า “แรงงานหญิง” มีโอกาสในการเลื่อนชั้นขึ้นต่ำกว่าแรงงานชายอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่แรงงานหนุ่มสาวมีโอกาสการเลื่อนชั้นค่อนข้างสูง แต่โอกาสนี้จะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่ออายุมากขึ้น
ส่วนงานที่มีความเป็นทางการสูง (high-formality job) ผ่านสัญญาจ้างระยะยาวและการมีสวัสดิการการออมเพื่อการเกษียณ มีโอกาสขยับชั้นรายได้ ได้สูงกว่า งานที่มีความเป็นทางการต่ำ (low-formality job) และมักขาดความมั่นคงในการจ้างงานและสวัสดิการที่เพียงพอ
“แรงงานที่มีลักษณะการจ้างงานแบบเป็นทางการสูงมีโอกาสเลื่อนชั้นขึ้นสูงกว่าแรงงานที่มีลักษณะการจ้างงานแบบเป็นทางการต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ข้อค้นพบนี้ย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเสมอภาคทางโอกาสและเพิ่มการเข้าถึงโอกาสสำหรับแรงงานกลุ่มเปราะบาง”
ทั้งนี้ ในทางออกนั้น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ แนะว่า ไทยอาจต้องเร่งแก้ไขปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบาย ใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ
ที่มา : กรมสรรพากร , สกว. , สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney