พิษโลกรวน อากาศร้อน น้ำท่วม ความเสี่ยงหลักท่องเที่ยวไทย ผู้ประกอบการ กำไรหด แบกต้นทุนเพิ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พิษโลกรวน อากาศร้อน น้ำท่วม ความเสี่ยงหลักท่องเที่ยวไทย ผู้ประกอบการ กำไรหด แบกต้นทุนเพิ่ม

Date Time: 14 พ.ค. 2567 10:08 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • การท่องเที่ยวไทย เสี่ยงได้รับผลกระทบจาก “ภาวะโลกรวน” ทั้งทางตรงและทางอ้อม อากาศร้อน น้ำท่วม ภัยคุกคามหลัก ทำแหล่งท่องเที่ยวเสียหาย กดดันกำไร ผู้ประกอบการแบกต้นทุนเพิ่ม กรุงเทพฯ กระทบมากสุด

“ภาวะโลกรวน” กลายเป็นประเด็นระดับโลกที่ทุกคนหันมาให้ความสนใจในปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากราคาสินค้าทั่วโลกที่ปรับสูงขึ้น จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนรุนแรงส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร เมื่อหันมองดูประเทศไทย จะเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนผ่านข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก หารายได้เข้าประเทศกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องเผชิญกับผลผลิตที่น้อยลงจากภัยแล้ง โดยศูนย์วิจัยกสิกร คาดว่า ปีนี้มูลค่าการส่งออกข้าวไทย อาจลดลงถึง 13% 

แต่ภาวะโลกรวนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ราคาสินค้าเกษตรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจไทย ที่สร้างเม็ดเงินหล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ ผ่านห่วงโซ่อุปทานที่ทอดยาวไปสู่เศรษฐกิจฐานราก

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ (Climate Shocks) ส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการจ้างงานในประเทศพึ่งพาการขับเคลื่อน โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก 


ข้อมูลจากบทความวิจัย “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวไทย” โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และ อิสรีย์ ชวนะพาณิชย์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพ ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยที่นักท่องเที่ยวใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยว และค่าใช้จ่าย

ผลกระทบทางตรง เช่น 

  • สภาพอากาศสุดขั้วทั้งน้ำท่วมหรือลมพายุรุนแรง อาจสร้างความเสียหายให้แก่แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงสร้างผลกระทบต่อกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยว
  • ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการท่องเที่ยวสูงขึ้น ทั้งต้นทุนในการทำความร้อน/ความเย็น
  • ต้นทุนการจัดหาน้ำสำหรับไว้บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนกระทบต่อระยะเวลาและคุณภาพของฤดูกาลท่องเที่ยว 

ผลกระทบทางอ้อม เช่น

  • สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สุนทรียภาพบริเวณแหล่งท่องเที่ยว
  • ผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย
  • กระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยว


โดยภาคการท่องเที่ยวมักได้รับผลกระทบจากภัยคุกคาม 2 ประเภท ได้แก่ ธรณีวิทยา (geological hazards) เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ดินโคลนถล่ม แผ่นดินทรุด ภูเขาไฟระเบิด และภัยคุกคามประเภทอุทกวิทยา/อุตุนิยมวิทยา (hydro-meteorological hazards) เช่น พายุหมุนเขตร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วมชายฝั่ง น้ำท่วมฉับพลัน คลื่นซัดฝั่งวาตภัย

อย่างไรก็ดีแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากภัยคุกคามที่แตกต่างกันไป หากพิจารณาในบริบทของประเทศไทย พบว่า ภัยคุกคามจากภูมิอากาศที่สำคัญ ประกอบด้วย อุณหภูมิสูง น้ำท่วม (ทั้งน้ำท่วมชายฝั่งและน้ำท่วมฉับพลัน) ภัยแล้ง และพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภัยคุกคามประเภทอุทุกวิทยา/อุตุนิยมวิทยา โดยแหล่งท่องเที่ยวแต่ละประเภทได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามจากภูมิอากาศที่แตกต่างกัน เช่น แหล่งท่องเที่ยวภูเขา ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิสูงและน้ำท่วมฉับพลัน, แหล่งท่องเที่ยวทะเลและชายฝั่ง ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมชายฝั่ง คลื่นซัดฝั่ง และพายุ , แหล่งท่องเที่ยวน้ำตกได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและภัยแล้ง ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม เช่น วัด แหล่งโบราณสถาน อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม 

นอกจากนี้ระดับความรุนแรงยังแตกต่างกันไปตามพื้นที่ โดยหลายจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในช่วงอนาคตระยะใกล้ (2016–2035) อนาคตระยะกลาง (2046–2065) และอนาคตระยะไกล (2081–2099) 

ทั้งนี้ จังหวัดในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุด 10 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี ตราด ขอนแก่น ภูเก็ต นครราชสีมา ชลบุรี เชียงใหม่ มุกดาหาร และอุบลราชธานี ตามลำดับ

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์