ไทย แบกรายจ่ายสวัสดิการ พุ่ง! หลังคนสูงวัยเพิ่มขึ้น ต้องสร้างฐานรายได้ใหม่ ก่อนเจอวิกฤติการคลัง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทย แบกรายจ่ายสวัสดิการ พุ่ง! หลังคนสูงวัยเพิ่มขึ้น ต้องสร้างฐานรายได้ใหม่ ก่อนเจอวิกฤติการคลัง

Date Time: 14 พ.ค. 2567 10:01 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ถึงเวลาแล้วหรือยัง? นักวิชาการ เผย ไทยกำลังเผชิญขีดจำกัด จากโครงสร้างประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นตามลำดับ รายจ่ายสวัสดิการพุ่ง แนะเร่งปฏิรูประบบสวัสดิการ และสร้างฐานรายได้ใหม่ ก่อนเจอ "วิกฤติการคลัง" ในอนาคต     

Latest


ข้อมูล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รายงาน ณ 14 พ.ค. 2567 ประเทศไทย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น มากกว่า 65.88 ล้านคน 

ขณะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีประชากรที่อายุครบ 60 ปี ภายใต้นิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” เพิ่มขึ้นมาอีก 361,305 คน ส่งผลให้ปัจจุบัน ไทยมีประชากรสูงอายุ มากกว่า 13.89 ล้านคน นั่นหมายถึง รายจ่ายที่เกี่ยวกับสวัสดิการ “ผู้สูงอายุ” ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ที่ผ่านมา นโยบายประชานิยมและนโยบายเพิ่มสวัสดิการสังคม มักเป็นจุดเน้นของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ และแทบไม่มีพรรคการเมืองพรรคไหนพูดถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อปรับโครงสร้าง-สร้างฐานรายได้ใหม่กันอีกรอบ 

ขณะที่ความพยายาม “ปฏิรูป” ทางด้านต่างๆ ในสมัยรัฐบาล คสช.ไม่มีอะไรคืบหน้าชัดเจนนัก ยกเว้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและระบบขนส่งคมนาคม

3 เรื่อง แก้ “กับดักประชานิยมสวัสดิการ” 



ประเด็นที่น่ากังวล ก็คือ นโยบายประชานิยมสวัสดิการ จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ตามโครงสร้างสังคมสูงวัย พร้อมกับอัตราการเกิดต่ำมาก จะเกิดภาวะประชากรหดตัวในไม่ช้า และจะเกิด “กับดักประชานิยมสวัสดิการ” ได้


หากไม่ปรับปรุงให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินของระบบสวัสดิการเหล่านี้ การปฏิรูปภาษีและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดฐานรายได้ใหม่ๆ คงเกิดขึ้นได้ยาก การเดินหน้าระบบรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบในไทย

เรื่องแรก คือ ต้องปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ พร้อมกับการกระจายอำนาจการจัดระบบสวัสดิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

เรื่องที่สอง คือ ต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐและเพิ่มภาษี ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นประเทศรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบจะมีสัดส่วนรายได้ภาษีอยู่ที่ระดับ 42-48.9% ของจีดีพี อย่างเดนมาร์ก มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 48.9% สวีเดนอยู่ที่ 48.2% 

โดยประเทศพัฒนาใน OECD มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 35% สหรัฐอเมริกาที่ใช้แนวคิดปัจเจกนิยมเสรี (Liberal Individualism) กับแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) ผสมกันในจัดระบบสวัสดิการโดยรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าพรรคแดโมแครต หรือ พรรครีพับรีกัน พรรคไหนเป็นรัฐบาล มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 28-30% 

ส่วนไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเพียงแค่ 14% เท่านั้น จึงยังห่างไกลต่อการมีฐานะทางการคลังที่สามารถสนับสนุนรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบอย่างสแกนดิเนเวียได้ ประเทศไทยเคยมีสัดส่วนการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ระดับ 18% ในปี พ.ศ. 2539 ก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 

"การขยายฐานภาษีนั้นควรเดินหน้าจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่วนการจะก่อหนี้มาเพื่อจ่ายสวัสดิการสังคมเพิ่มควรต้องทำอย่างระมัดระวัง หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่บริหารงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพและรั่วไหล เรามีความจำเป็นต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านี้อย่างจริงจัง สินค้าและบริการของรัฐวิสาหกิจแห่งใดที่เอกชนทำได้ดี รัฐไม่จำเป็นต้องไปทำแข่ง ก็ควรจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นออกไปเพื่อลดภาระทางการคลัง"

เรื่องที่สาม ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมเมื่อเทียบกับจีดีพีและเทียบกับงบประมาณ โดยไทยมีรายจ่ายด้านสวัสดิการเทียบกับจีดีพีและเทียบกับงบประมาณค่อนข้างต่ำ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมในปัจจุบันของไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสแกนดิเนเวียต้นแบบรัฐสวัสดิการมากกว่า 14-15 เท่า และอย่างสวีเดนหรือเดนมาร์กมีรายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมต่อหัวมากกว่าไทย ประมาณ 600 เท่า 

ผู้สูงอายุยากจน ไม่มีเงินออม ปัญหาใหญ่

การดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ระบบรัฐสวัสดิการจึงต้องใช้เวลา ประเมินจากฐานะการเงินการคลังของประเทศ รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม โครงสร้างประชากรล่าสุด สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย คาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีจึงจะบรรลุเป้าหมายการมีระบบรัฐสวัสดิการที่มีมาตรฐานแบบยุโรปเหนือ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีนโยบายสร้างระบบรัฐสวัสดิการทำงานต่อเนื่องอย่างน้อยสองวาระจึงจะบรรลุเป้าหมายได้ แต่ควรเป็นระบบรัฐสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่นเพื่อเลี่ยงวิกฤติการคลัง เช่น ประเทศยุโรปบางประเทศ 

ในอีกด้านหนึ่ง หากไม่เร่งดำเนินการ ผู้สูงอายุที่ยากจนจะประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตอย่างมาก โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและไม่อยู่ในระดับบำนาญใดๆ จะเป็นปัญหาวิกฤติในอนาคตอันใกล้ ประชากรในวัยทำงานลดลงอย่างมาก ต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน การศึกษานโยบายการเพิ่มประชากรผ่านการตั้งถิ่นฐานใหม่ของแรงงานทักษะสูงการศึกษาสูง เป็นเรื่องที่ควรมีการเตรียมการเอาไว้ 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ