ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไขปมใครได้ใครเสีย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไขปมใครได้ใครเสีย

Date Time: 11 พ.ค. 2567 05:50 น.

Summary

  • ผู้ใช้แรงงานต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลค่าแรงขั้นต่ำ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะหลายคนมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันยังน้อยมากถึง 26.5% แม้จะมีผู้เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาท/วันทั่วประเทศในระดับปานกลาง 24.9%

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

แรงงานไทยเตรียมเฮกัน “การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน” ที่จะเกิดขึ้นในทุกสาขาอาชีพถ้วนหน้าทั่วประเทศ “ตามนโยบายของรัฐบาลที่เคยชูธงหาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง” สำหรับเพิ่มเงินในกระเป๋าของพี่น้องคนทำงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่จะทยอยปรับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567

ทำให้ช่วง 6 เดือนนี้ต้องเฝ้าติดตามดูกระทรวงแรงงานจะหารือกับฝ่ายแรงงาน-นายจ้างเสนอ คกก. ค่าจ้างในข้อกังวลผลกระทบตลาดแรงงาน และการปรับตัวผู้ประกอบการนั้นเรื่องนี้ “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย” สำรวจสถานภาพแรงงานไทย:กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท 1,259 คนทั่วประเทศ

หลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทนำร่อง 10 จังหวัดในธุรกิจโรงแรม และเตรียมทยอยขึ้นค่าแรงในธุรกิจทั่วประเทศในปีนี้โดย อุมากมล สุนทรสุรัติ ผช.ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ บอกว่า ปีนี้คนไทยมีภาระพึ่งพิงเพิ่มขึ้น 50% สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วเคยอยู่ที่ 40% สะท้อนให้เห็นว่าคนทำงานหาเงินน้อยลงกว่าคนไม่มีรายได้

ตอกย้ำให้แรงงานไทยเก็บเงินออมเพียง 33.8% เฉลี่ย 500-1,000 บาท/เดือน ส่วนคนไม่มีเงินออมสูงถึง 66.2% ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างข้าราชการ พนักงานเอกชน จนต้องรับจ้างหาอาชีพเสริมให้ได้ 1,000-3,000 บาท/เดือน

ถัดมาในส่วน “สถานภาพหนี้” ในปีนี้แรงงานไทยมีหนี้สินสูง 98.8% ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ส่วนตัว 17.5% กู้เงินเพื่อใช้เงินดิม 11% กู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย 10.9% กู้มาใช้หมุนเวียนธุรกิจ 10.6% กู้ซื้อรถ 9.2% และกู้รักษาพยาบาล 7.4% ดังนั้น ภาระหนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยอยู่ที่ 3.4 แสนบาท ต้องผ่อนชำระเดือนละ 9,200 บาท

แยกเป็นหนี้ในระบบ 64.8% ผ่อนเดือนละ 7,500 บาท ดอกเบี้ย 7.8%/ปี หนี้นอกระบบ 35.2% ผ่อนเดือนละ 3,600 บาท ดอกเบี้ย 17.80%/เดือน แล้วในช่วง 1 ปีมานี้แรงงานไทยไม่น้อยเคยผิดนัดผ่อนชำระ 45.7% เพราะรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายจากคนในครอบครัวตกงาน เกษียณอายุ และมีเหตุฉุกเฉินทำให้เงินขาดมือ

เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนว่า “ภาระหนี้สิน” ย่อมส่งผลต่อการใช้จ่ายลดลง 48.5% ทั้งยังมีผลต่อการใช้จ่ายในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 41.6% ดังนั้นสถานภาพทางการเงินของแรงงานไทยค่อนข้างมีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบันกว่า 79.5% เพราะราคาสินค้าแพง ภาระหนี้มากขึ้น และรายได้กลับไม่เพิ่มแต่ราคาของสูงขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งนี้ทำให้แรงงานแก้ไขปัญหา “ด้วยการกู้ยืมเงินในระบบ และนอกระบบอันแนวโน้มสูงขึ้น” นอกจากนี้ก็มีบางส่วนหาอาชีพเสริมทำ ขอความช่วยเหลือจากญาติ หรือนำสินทรัพย์ของมีค่าไปขาย-จำนำ “แต่ในส่วนคนไม่มีปัญหารายได้ไม่พอจ่าย” เพราะมีการประหยัดซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น หรือบางคนมีรายได้สูงขึ้น

ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลค่าแรงขั้นต่ำ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะหลายคนมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันยังน้อยมากถึง 26.5% แม้จะมีผู้เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาท/วันทั่วประเทศในระดับปานกลาง 24.9% ก็เพราะมีความกังวลการปรับค่าจ้างนั้นมักนำมาซึ่งราคาสินค้าสูงกว่าราคาค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

แต่ในมุมมองของนายจ้างนั้น ผศ.ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผช.อธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ ผอ.สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มีการสำรวจทัศนคติผู้ประกอบการ SME หลังปรับค่าจ้าง 400 บาท บอกว่า สถานภาพการจ้างงานยังคงเน้นใช้แรงงานมากกว่าเครื่องจักรสูงกว่า 70.3% แต่ก็มีแนวโน้มนำเครื่องจักรมาแทนแรงงาน 52.2%

ด้วยกำลังผลิตแรงงานไม่สามารถเทียบเท่ากับเครื่องจักรได้จาก “ความแม่นยำมากกว่าคน” แต่ก็มีบางส่วนไม่สามารถใช้เครื่องจักรทดแทนได้อย่างเช่น “ภาคบริการ” ใช้แรงงานมากกว่าเครื่องจักร 93.5% “ภาคการค้า” ใช้แรงงานมากกว่าเครื่องจักร 71.8% “ภาคการผลิต” ใช้แรงงานมากกว่าเครื่องจักร 44.7%

อันมีสถานภาพการจ้างงานขั้นต่ำกว่า 400 บาท/วัน มีอยู่ที่ 80% ส่วนค่าจ้างงานสูงกว่า 400 บาท/วัน อย่างเช่นสิ่งทอและแฟชั่น 420.33 บาท/วัน ค้าปลีก 407.21 บาท/วัน ร้านอาหาร/ภัตตาคาร 412.60 บาท/วัน ท่องเที่ยว 422.63 บาท/วัน โรงแรม 218.20 บาท/วัน ก่อสร้าง 423.67 บาท/วัน

แล้วถ้าถามว่า “การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน มีความเหมาะสมหรือไม่” ผู้ประกอบการส่วนใหญ่บอกว่า “ไม่เหมาะสมกับฝีมือแรงงาน 67.4%” เพราะในช่วงเหมาะสมอยู่ที่ 361-380 บาท/วัน เช่น ภาคบริการค่าแรงขั้นต่ำเหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 375 บาท/วัน ภาคการผลิตเฉลี่ยที่ 366 บาท/วัน และภาคการค้า 387 บาท/วัน

ดังนั้น ทัศนะของภาคธุรกิจเห็นว่า “ค่าจ้าง 400 บาท” อาจขยับให้ค่าจ้างโดยรวมปรับสูงขึ้นกว่าที่จะจ่ายอีก “ยกเว้นช่างอัญมณี เครื่องประดับ และสิ่งทอแฟชั่น” ที่ต้องใช้ช่างฝีมือพิเศษ เรื่องนี้ผู้ประกอบการค่อนข้างกังวลกับการปรับค่าจ้างมากถึง 48.7% เพราะต้องมีภาระต้นทุนสูง แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างยังคงเท่าเดิม

สำหรับผลกระทบตามมาคือ “ผู้ประกอบการ” อาจปรับราคาสินค้า และบริการสูงขึ้น 13.2% ภายใน 1 เดือนหลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน รวมถึงธุรกิจบางส่วนอาจมีการลดปริมาณสินค้า หรือลดต้นทุนอื่นลง เช่น วัตถุดิบ และเพิ่มการใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีมาแทนแรงงานด้วยซ้ำ

เช่นนี้เสนอว่า “การปรับขึ้นค่าแรง” ต้องปรับตามความสามารถในการทำกำไรของแต่ละธุรกิจจากการพิจารณาต้นทุนธุรกิจ กำหนดค่าจ้างแบบลอยตัวขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือปรับขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจมวลรวม (GDP) โดยปรับเท่ากันทั้งประเทศ

ด้วยการหารือกับ “ผู้ประกอบการ และหน่วยงานในทุกภาคส่วน” เพื่อกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมได้นั้น “ต้องประเมินหลายมิติ” ทั้งส่งเสริมมาตรการทางการเงิน และการอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายเล็กๆ และเสริมทักษะของลูกจ้างให้สอดคล้องกับ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย

สำหรับผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจนั้น วิเชียร แก้วสมบัติ ผช.ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ บอกว่า ตามการประเมินฉากทัศน์ (Scenario) ผลกระทบแบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีแรก...ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเฉพาะกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง “ลูกจ้างรายวัน” จะได้รับประโยชน์ 6 หมื่นคน

กรณีที่สอง...ปรับขึ้นขั้นต่ำ 400 บาท ครอบคลุมบางประเภทกิจการทุกพื้นที่ทั่วประเทศนั้นลูกจ้างรายวันที่จะได้รับประโยชน์ 2.21 ล้านคน และกรณีที่สาม...ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ครอบคลุมทุกประเภทกิจการ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศจำนวนลูกจ้างรายวันที่จะได้รับประโยชน์ 5.28 ล้านคน

ประการถัดมาเรื่องนี้ “มีผลต่อด้านอุปทาน” เพราะค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น “ธุรกิจ” ที่มีต้นทุนค่าจ้าง และเงินเดือนต่อต้นทุนรวมในสัดส่วนสูงก็จะกระทบมาก “ด้านอุปสงค์ผลกระทบทางบวก” เมื่อแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นก็มีการนำไปใช้จ่าย และการบริโภคในระบบเศรษฐกิจสูง ทำให้การผลิต และการจ้างงานขยายตัวตามมา

ทว่า “ด้านลบ” กรณีต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้นราคาสินค้าก็จะสูงตาม ทำให้ความต้องการน้อยลงให้การผลิต และการจ้างงานลดลงด้วย ส่วนผลกระทบต่อ “เงินเฟ้อ” ถ้ากรณีผู้ผลิตผลักภาระต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นทั้งหมด 100% ไปยังราคาสินค้าที่ขายส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 3.52% ดังนั้น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวงกว้างมักกระทบเศรษฐกิจมากตามมา

ฉะนั้นผู้ประกอบการเป็นบุคคลสำคัญ “ส่งผ่านค่าแรงไปสู่เงินเฟ้อ” อย่างไรก็ตามยังมีผลทางบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีปัจจัยจาก “อุปสงค์ และอุปทาน” ฉะนั้นการจะตัดสินใจใดๆ “ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน” ควรต้องชั่งน้ำหนักของการดำเนินนโยบายให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

นี่คือ “การประเมินข้อดี-ข้อเสียหลังปรับค่าแรงขั้นต่ำ” ที่ต้องคำนึงถึงบริบทการจ้างงาน และนายจ้างให้สอดรับฐานการผลิตให้เกิดความยืดหยุ่นของแต่ละอุตสาหกรรม “อันมีต้นทุนค่าแรงต่างกัน” เพราะมิเช่นนั้นผู้ประกอบการอาจมีการปรับตัวส่งผ่านต้นทุนในรูปแบบอื่นก็ได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ