ขึ้นค่าแรง 400 ทั่วประเทศ ลูกจ้าง 5.28 ล้านคนได้ประโยชน์ เปิดผลกระทบ เชิงบวก-เชิงลบ ทางเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ขึ้นค่าแรง 400 ทั่วประเทศ ลูกจ้าง 5.28 ล้านคนได้ประโยชน์ เปิดผลกระทบ เชิงบวก-เชิงลบ ทางเศรษฐกิจ

Date Time: 10 พ.ค. 2567 08:49 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • ขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ลูกจ้าง 5.28 ล้านคน ได้ประโยชน์ เปิดผลกระทบ เชิงบวก-เชิงลบ หลังบังคับใช้ แรงงาน, จีดีพี และเงินเฟ้อไทย จะไปทางไหน?

Latest


อย่ากังวล ค่าแรง 400 บาท ไม่ได้ขึ้นแบบกระชาก ... 

นี่คือคำยืนยันจากตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ โดยคาดจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 67 เป็นต้นไป ขณะกระทรวงแรงงานมั่นใจ การขึ้นค่าแรง 400 บาท แรงงานไทยจะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการขึ้นค่าจ้างใหม่ ปี 2567 ยังเป็นข้อถกเถียงที่ต้องหารือกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ภายใต้การพูดคุยกันของอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและบอร์ดไตรภาคี 

เนื่องจากขณะนี้ เอกชน 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ย้ำจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ เนื่องจากกังวลผลกระทบ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้ไม่เกิน 2.7% ต้นทุนผู้ประกอบการอ่วม ทั้งค่าแรงและค่าพลังงาน จนอาจซ้ำเติม ค่าครองชีพผู้บริโภค ในยุคที่กำลังซื้อเปราะบาง น่าห่วงอยู่ก่อนแล้ว 

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า เงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 มีแนวโน้มเป็นบวกต่อเนื่อง นอกจากราคาพลังงานในประเทศที่คาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรอาจตึงตัวจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก 

อีกทั้งหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือน ต.ค. 67 ก็จะยิ่งส่งผลให้เงินเฟ้อไทยในปี 2567 ปรับสูงขึ้นจาก 0.8% ที่มีการคาดไว้เดิม 

จากประเด็นดังกล่าว Thairath Money ชวนเปิดงานวิจัย : ผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั้งแง่บวกและแง่ลบ ต่อแรงงาน, จีดีพี และเงินเฟ้อ  ซึ่งจัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในมิติต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพนโยบายดังกล่าว และผลที่จะเกิดอย่างชัดเจนขึ้น

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ “แรงงาน” 

  • กรณีแรก : คาดการณ์การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ปี 2567 ซึ่งครอบคลุมบางประเภทกิจการ (กิจการท่องเที่ยว, ขนส่งและโลจิสติกส์, กิจการแปรรูปอาหาร, กิจการผลิตสินค้าที่เน้นตลาดส่งออก) ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศนั้น จำนวนลูกจ้างรายวันที่จะได้รับประโยชน์ มีราว 2.21 ล้านคน
  • กรณีที่ 2 : คาดการณ์การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ปี 2567 ซึ่งจะครอบคลุมทุกประเภทกิจการ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศนั้น จะมีจำนวนลูกค้ารายวันที่จะได้รับประโยชน์ ราว 5.28 ล้านคน 

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ GDP 

เชิงบวก

  • เมื่อผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้จีดีพีโตขึ้นตามไปด้วย
  • กระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ (เช่น กำลังซื้อผู้บริโภครายได้น้อยดีขึ้น กระตุ้นการผลิตและลงทุน)
  • ผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นอาจช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า (ต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง จะช่วยให้สินค้าในประเทศแข่งขันได้มากขึ้น)

เชิงลบ

  • หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงานและกำลังซื้อลดลง (เช่น ฝรั่งเศส ปี 2000 ที่ขึ้นค่าแรงมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน) 
  • ถ้าผลิตภาพไม่เพิ่มตามค่าแรง ความสามารถแข่งขันอาจลดลง กระทบการส่งออกและ GDP


ผลที่จะเกิดขึ้นกับ “เงินเฟ้อ”

เชิงบวก

  • ค่าแรงที่สูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะและ เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงาน 
  • หากผลิตภาพเพิ่มมากกว่าต้นทุนค่าแรง จะช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ (เช่น UK ปี 1999 ผลิตภาพเพิ่ม 11-14% แต่เงินเฟ้อเพิ่มจำกัด)


เชิงลบ

  • นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ
  • ต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้า ทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น 
  • หากไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว

วิเคราะห์ ผลดี-ผลเสีย ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ 

ทั้งนี้ เมื่อแรงงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะนำไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และ เมื่อการบริโภคในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็จะมีผลทำให้การผลิตและการจ้างงานขยายตัวตามมา

แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ เมื่อธุรกิจมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นราคาสินค้า และเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นก็จะมีผลทำให้ความต้องการลดลง ซึ่งท้ายที่สุด ความต้องการลดลงก็จะมีผลทำให้การผลิตและการจ้างงานลดลงในอนาคตด้วย 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ