นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการ ร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปีนี้ใหม่ โดยให้มีอัตราการเติบโต 2.2-2.7% ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 2.8-3.3% เนื่องจากคาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 2-3% ตามทิศทางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดอยู่ที่ 0.5-1% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.7-1.2%
นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าต้องติดตามความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้เร็วที่สุด ที่จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงการมีมาตรการสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
“กกร.ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท เพราะเป็นอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและการปรับค่าแรงขั้นต่ำประจำปี ควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานปี 2547”
ดังนั้น กกร.จะทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม รวมทั้งจะหารือกับภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดถึงผลกระทบและจัดทำข้อเสนอต่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด ตามกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)
“การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัด และประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรหารือร่วมกับภาคเอกชน และใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่หรือประเภทธุรกิจ”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่