เคาะแล้ว เงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ต ล่าสุดนับ “เซเว่น” เป็นร้านค้าขนาดเล็ก จำกัดแจกเงินไม่เกิน 3 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เคาะแล้ว เงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ต ล่าสุดนับ “เซเว่น” เป็นร้านค้าขนาดเล็ก จำกัดแจกเงินไม่เกิน 3 ปี

Date Time: 23 เม.ย. 2567 16:15 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • อัปเดตเงื่อนไข "เงินดิจิทัลวอลเล็ต" 10,000 บาท ล่าสุดคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแล้ว เตรียมเปิดให้ร้านค้า ประชาชนลงทะเบียนไตรมาส 3 รับเงินไตรมาส 4 ใช้จ่ายในเซเว่นได้ กำหนดแจกเงินถึงเดือนกันยายน 2569

Latest


เป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ไปต่อ หลังเมื่อวันที่ 10 เม.ย 2567 คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท มีมติเห็นชอบหลักการ โครงการฯ โดยจะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าเข้าร่วมโครงการภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 

ล่าสุดวันนี้ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว

โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ซึ่งเป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท ซึ่งจะได้รับเงิน ผ่านแอปพลิเคชันที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนา นำไปซื้อสินค้าได้ทุกประเภท (ยกเว้นอบายมุข บริการ น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าออนไลน์) จากร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ภายในอำเภอ (รวมร้านสะดวกซื้อ Standalone และในปั๊มน้ำมัน) 

สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ จะช่วยเติมเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะทำให้ GDP โตประมาณ 1.2-1.8% จากกรณีฐาน 

อัปเดตเงื่อนไขการใช้จ่าย “ดิจิทัลวอลเล็ต”

แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า สามารถใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก ที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และต้องเป็นการจ่ายเงินแบบพบหน้า (Face to Face)

2. ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า

ใช้ซื้อสินค้าอะไรได้บ้าง

สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้า (Negative List) ซึ่งได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้

คุณสมบัติร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ 

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) 

- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร 

- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT) 

ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

ระยะเวลาโครงการ

เนื่องจากมีแนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 จึงต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569


     


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ