จริงๆ ไทยเจริญได้ แต่ "ตกม้าตาย" เพราะลงมือทำ เปิดสาเหตุฉุดรั้งประเทศ "งบเยอะ" แต่ทำไมไม่พัฒนา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จริงๆ ไทยเจริญได้ แต่ "ตกม้าตาย" เพราะลงมือทำ เปิดสาเหตุฉุดรั้งประเทศ "งบเยอะ" แต่ทำไมไม่พัฒนา

Date Time: 15 เม.ย. 2567 12:21 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • "เศรษฐกิจไทยโตต่ำ" กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล และให้การจับตามอง แม้ไทยจะเป็น "สังคมอุดมแผนการ" ที่ไม่เคยขาดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศเลย แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงรู้สึกว่า "ประเทศไม่พัฒนา" หรือ "พัฒนาช้า" กว่าที่ควรจะเป็น?
  • Thairath Money ชวนผ่าสาเหตุฉุดรั้งประเทศไทย "งบเยอะ" แต่ทำไมไม่พัฒนา

Latest


"เศรษฐกิจไทยโตต่ำ" กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล และให้การจับตามองอย่างมากในช่วง 1-2 ปีมานี้ เพราะไม่ใช่แค่โตต่ำกว่าศักยภาพตัวเองเท่านั้น แต่ยังโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่พัฒนาความสามารถในการแข่งขันหลายด้าน จนกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะในภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว สวนทางกับไทยที่นอกจากเศรษฐกิจจะชะลอตัวแล้ว ยังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัย อัตราการเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งนักนโยบายผู้มีหน้าที่กำหนดแผนขับเคลื่อนประเทศ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด 


จะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งเป็นแผนแม่บทที่ประกอบด้วยแผนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ลดความเหลื่อมล้ำให้ประเทศไทย หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน แม้เราจะมีแผนพัฒนาที่มากมาย แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงรู้สึกว่า "ประเทศไม่พัฒนา" หรือ "พัฒนาช้า" กว่าที่ควรจะเป็น?

Thairath Money ชวนหาคำตอบไปด้วยกัน กับ ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในงานสัมมนาทางวิชาการในซีรีส์ ‘ภูมิทัศน์ใหม่ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย’ ตอนที่ 2: ‘เศรษฐกิจไทย ปัญหาเก่าในวิกฤตใหม่?’ 


ดร.แบ๊งค์ มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตตํ่าลง จากยุคเฟื่องฟูในปี 2537 ซึ่งเติบโตเฉลี่ยที่ระดับ 8% หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เติบโตที่ 5% และเริ่มชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3% หลังปี 2553 แต่หลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19 กลับมีการเติบโตอยู่ที่ระดับ 2% เท่านั้น แนวโน้มเหล่านี้ได้กระตุ้นให้นักนโยบายไทยตื่นตัว จัดทำแบบแผนพัฒนาประเทศ มุ่งสร้างนวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม ซึ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของภาษาทางการเมืองระดับนโยบาย ดังนั้นประเทศไทย จึงไม่เคยขาดการทำยุทธศาสตร์หรือแผนเลย แต่ที่การพัฒนาไม่เกิดผลเพราะขาดข้อต่อสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่

1. มีแผน แต่ไม่มีผล

2. ขาดการเชื่อมโยงต่อเติมให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อคนไทย

3. ขาดกลไกเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (transformation)


ทฤษฎีแน่น แต่ลงทุนไม่ถูกจุด

ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมแผนการ แต่ไม่มีกลไกขับเคลื่อนแผนให้ไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีพอ สะท้อนจากการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ได้สัดส่วน เมื่อย้อนดูงบลงทุนด้านยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ปี 2566 ซึ่งมีมูลค่า 213,000 ล้านบาท พบว่า งบกว่า 75% ถูกใช้ไปกับการลงทุนสร้างถนน ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าการทุ่มเงินพัฒนาถนนมหาศาลนั้น นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน หรือสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ได้อย่างไร 


ไทยมีเป้าหมาย ต้องการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ แต่ยังดึงดูดการลงทุนไม่เข้าเป้า โดยข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า ระหว่างปี 2558-2562 มีธุรกิจขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในกลุ่มวิจัยและพัฒนา (R&D) และกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ที่ใช้ทุนเข้มข้น อีกทั้งมีเม็ดเงินและกิจกรรมการลงทุนเข้ามาน้อยมาก สอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ระบุว่าในปี 2560-2564 มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมมีเพียง 38% เท่านั้น


แม้จะมีแผนขับเคลื่อนทักษะพื้นฐานสำคัญของสังคมไทย ซึ่งประกอบด้วย ทักษะการอ่านออกเขียนได้ ทักษะดิจิทัล และทักษะการอยู่ร่วมในสังคมอย่างครอบคลุม แต่เมื่อติดตามผลในระดับลึกลงไป พบว่าส่วนใหญ่มีการปฏิบัติตามแผนในระดับปานกลางเท่านั้น

ต่างชาติแห่ลงทุน แต่เม็ดเงินไม่ถึงผู้ประกอบการไทย


ณ ปัจจุบัน ประเด็นเศรษฐกิจไทยโตต่ำไม่ใช่เรื่องเดียวที่เราต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากสิ่งนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่เราต้องถกถึงแหล่งที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อการจ้างงาน หากมองข้ามสองเรื่องนี้จะทำให้ทุกๆ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ไปซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ


แม้รัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญในการหางินทุนเข้าประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมาไทยสามารถดึงดูด FDI ได้มาก แต่ก็ยังเชื่อมต่อกับซัพพลายเออร์ท้องถิ่นได้ไม่มากเท่าที่ควร ทำให้เงินลงทุนจากห่วงโซ่คุณค่าจึงตกมาถึงผู้ประกอบการ ไทยเพียงแค่ 25% ต่อไตรมาสเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น อัตราการซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัทญี่ปุ่นในไทย พบว่า บริษัทญี่ปุ่นยังซื้อชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ไทยไม่มาก โดยในปี 2566 มีการซื้อชิ้นส่วนจากไทยเพิ่มขึ้น 26% จาก 24% เมื่อปี 2558 ในขณะที่สัดส่วนการซื้อชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ต่างประเทศมีมากถึง 40% สอดคล้องกับความต้องการจ้างงานของบริษัทที่เข้าร่วม BOI

ซึ่งต้องการแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.6 ลงไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่เน้นจ้างแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำ เพราะค่าแรงถูก ดังนั้นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องถูกหารือร่วมกันอย่างลึกซึ้งควบคู่ไปกับการสร้างงานที่ดี ซึ่งเป็นงานที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตแบบชนชั้นกลางให้กับแรงงานได้


ภาคเกษตรกับดักฉุดรั้งแรงงาน


ข้อต่อสุดท้ายที่หายไปในแผนพัฒนาประเทศ คือ ไทยขาดกลไกเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักนโยบายพูดถึงน้อยมาก เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างต้องใช้เวลามากกว่า 3-5 ปี

ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมของไทยมีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวประชากร และระยะการพัฒนาของประเทศ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทำให้คนไทยจำนวนมากติดอยู่กับอาชีพที่มีผลิตภาพต่ำ และความเหลื่อมล้ำสูง ตามมาด้วยปัญหาการจ้างงานนอกระบบ

โดยมีการจ้างงานไม่เป็นทางการ สัดส่วนมากกว่า 55% ของการจ้างงานทั้งหมด โดยแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งนึงมีรายได้น้อย และมากกว่า 80% ทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานส่วนใหญ่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพัก และไม่สามารถหยุดงานได้เนื่องจากจะขาดรายได้ทันที นโยบายอุดหนุนค่าเรียนจึงไม่เพียงพอที่จะดึงแรงงานเหล่านี้ให้พัฒนาทักษะไปสู่เศรษฐกิจใหม่ได้

ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจจากประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมใหม่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหารือ ท้ายที่สุด ดร.แบ๊งค์ มองว่าการเติม 3 ข้อต่อที่หายไป จะทำให้สังคมอุดมแผนของไทย เดินหน้าได้ดีขึ้น ส่วนผลลัพธ์จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากหลายฝ่าย นอกจากนี้ ยังเสนอแนวทางการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน ว่าต้องไม่หมกมุ่นอยู่กับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ควรมุ่งสู่คอนเซปต์ good job economy โดยเทคโนโลยีต้องเป็น source of growth และสร้างงานที่ดี ให้แรงงานสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตแบบชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ

และที่สำคัญคือ การออกแผนหรือยุทธศาสตร์ต้องเอา "ความท้าทาย" (challenge) เป็นตัวกำหนด "พันธกิจ" (mission) ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้โจทย์ ความท้าทายเหล่านั้นจะอยู่ในรูปแบบของโครงการที่สามารถขับเคลื่อนทุกภาคส่วน ให้พัฒนาไปพร้อมๆ กันได้ ผ่านการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม รวมถึงกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การมีพื้นที่ให้ลองผิดลองถูก

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์