ศึกชิงประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ ผ่านโยบายการทำงาน “เกรียงไกร-สมโภชน์”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ศึกชิงประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ ผ่านโยบายการทำงาน “เกรียงไกร-สมโภชน์”

Date Time: 25 มี.ค. 2567 05:50 น.

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 มี.ค.นี้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่จะมีการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนใหม่ โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท.คนปัจจุบันที่จะหมดวาระสมัยที่ 1 (วาระปี 2565-2567) ลงสมัครแข่งขันเพื่อดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 สมัย หรือวาระปี 2567-2569 โดยมี นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธาน ส.อ.ท. เสนอตัวเข้าแข่งขันชิงตำแหน่งดังกล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท.เริ่มจัดตั้งเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2530 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาสถาบันธุรกิจภาคเอกชนของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง ประสานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติในวงการเศรษฐกิจโลก ฯลฯ โดยเฉพาะการร่วมเป็นกรรมการในคณะ กรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ตลอดจนรัฐบาลได้ไว้วางใจให้มีผู้แทน ส.อ.ท.ในคณะอนุกรรมการและคณะทำงานต่างๆในหน่วยงานราชการ รวมไปถึงการเป็นคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ที่จะนำเสนอแนะรัฐบาลถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน ส.อ.ท.มีสมาชิก 16,000 ราย จาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 76 กลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัด ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายเกรียงไกรกล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยผ่าน “นโยบาย ONE FTI” ที่เป็นการหลอมรวมความร่วมมือจากกลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สถาบันเฉพาะทางภายใน ส.อ.ท. หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานระหว่างประเทศ และสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยกันวางรากฐานและกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือฟื้นฟูเอสเอ็มอี

นโยบายในอีก 2 ปีข้างหน้า หากได้รับเลือกตั้งจะยังคงให้ความสำคัญและสานต่อนโยบาย ONE FTI อย่างเข้มข้น เพื่อต่อยอดการดำเนินงาน หลังจากที่ได้มีการวางรากฐานไปแล้วในวาระที่ผ่านมา โดยจะมีการเปิดรับฟัง ความคิดเห็นจากสมาชิกทั้ง 16,000 ราย เพื่อนำมา ปรับปรุงการดำเนินงานผ่านกรอบเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ใน ด้านหลักๆ อาทิ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย (Competitiveness) ให้ทุกอุตสาหกรรมและทุกขนาดของธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้ 2.การส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อสร้าง New Growth Engines ที่จะขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้สามารถขยายตัวได้ในระดับ 5% ต่อปี 3.การพัฒนาอุตสาห กรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593

สิ่งที่ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญคือ การช่วยเหลือและส่งเสริมเอสเอ็มอี รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ (Startup) ให้สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งประเทศไทยมีเอสเอ็มอีเป็นสัดส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการในประเทศ จำนวนถึง 3.2 ล้านราย มีการจ้างงาน 12.6 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าที่มาจาก เอสเอ็มอีต่อจีดีพี 6.1 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ

เร่งช่วยสมาชิกปรับตัวให้ทันโลก

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คาดเดาได้ยาก มีผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางและผันผวนมากขึ้น เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภค (Technology disruption) การทำธุรกิจมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส.อ.ท. จึงต้องมีหน้าที่สำคัญที่จะช่วยสมาชิกในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินธุรกิจ ทั้งการปรับกลยุทธ์องค์กรให้ทันต่อสถานการณ์ การแสวงหาตลาดใหม่ๆ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภาพแรงงาน การปรับตัวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนตามกระแสโลก

“สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการวางแผนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน บูรณาการการทำงานตั้งแต่ระดับนโยบายไปสู่ระดับปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีงบประมาณสนับสนุนที่เหมาะสมเพียงพอ และมีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เน้นให้ความสำคัญ กับการลดภาระของผู้ประกอบการและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมากยิ่งขึ้น เพื่อสื่อสารไปยังหน่วยงานภาครัฐ”

สำหรับปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือเป็นเรื่องเร่งด่วน มีอาทิ ภาครัฐต้องเร่ง ปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ของภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัว และก้าวข้ามความท้าทายทางเศรษฐกิจไปได้ โดยข้อเสนอต่างๆ มีอาทิ การดูแลต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงให้ลดลง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน ดอกเบี้ยเงินกู้ ปัญหาเหล่านี้ฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขัน ของไทยจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

นายสมโภชน์ อาหุนัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ

นายสมโภชน์กล่าวว่า จะนำความรู้ความ สามารถ และประสบการณ์การทำงานมาช่วยพัฒนาประเทศชาติให้ยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมให้คนรากหญ้ามีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของการสร้างรายได้ของประเทศให้เกิดผลประโยชน์ในประเทศ สร้างเอสเอ็มอีและสร้างแรงงานตอบโจทย์ผ่านยุทธศาสตร์ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก ส.อ.ท. 2.สร้างพลังและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก ส.อ.ท.ทั่วประเทศ 3.ประสานความ ร่วมมือกับภาครัฐให้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี ตลอดจนผู้ประกอบการ รายย่อยและรายใหม่ๆที่เริ่มต้นทำธุรกิจ 4.จะนำความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ที่ทำงานมาอย่างยาวนาน มาบูรณาการในเชิงรุกและเชิงรับในทุกๆด้าน

หากได้เป็นประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ จะเริ่มต้นทำงานด้วยการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของ ส.อ.ท.ให้เกิดความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการทำงานสายงานสมาชิก ส.อ.ท.จังหวัดทั่วประเทศ และ 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ต้องเดินไปด้วยกัน ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการทำงาน 2 ปี

“ผมไม่อยากแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ เพราะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงต้องการให้ทั้ง 2 สายงาน มาระดมสมองรวบรวมปัญหา อุปสรรค และความท้าทายที่เกิดจากหลายๆปัจจัยในขณะนี้ อาทิ โครงสร้างทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามระหว่างประเทศ สงครามการค้า ออกมาเป็นนโยบายร่วมกัน เพื่อเสนอให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมและหามาตรการช่วยแก้ไขให้กับภาคเอกชน เพื่อให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสรุปออกมาเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อทำให้เกิดความก้าวหน้าในทุกๆด้านให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย”

ทั้งนี้ ส.อ.ท.เปรียบเสมือนการย่อประเทศไทยออกมา เพราะสมาชิกที่มารวมกันเป็น ส.อ.ท. มีทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก จนถึงรายย่อย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมาหลอมรวมกันให้เป็นระบบ เพื่อร่วมกันทำงาน

ทำงานโปร่งใส–รวดเร็ว–สามัคคี

“ขอยืนยันเมื่อได้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว การทำงานใน 2 ปีข้างหน้าต้องทำด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว เกิดความสามัคคี เพราะสมาชิก ส.อ.ท.ก็คือเบอร์ 1 ของแต่ละกิจการที่มารวมตัวกัน ซึ่งเราคือคนคุณภาพของประเทศแต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยให้ขุนพลเหล่านี้ออกไปร่วมรบกับปัญหาของประเทศร่วมกับภาครัฐอย่างจริงจัง จากนี้ไปเราจะไปเติมเต็มให้กับภาครัฐทั้งการดึงดูดการลงทุน การลงทุนใหม่ๆ การขยายการลงทุน การช่วยเหลือเอสเอ็มอี”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายอมรับว่า ส.อ.ท.ต้อง เสนอขอความช่วยเหลือให้รัฐบาลหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือช่วยเหลือสมาชิก แต่ไม่เคยมีแผนที่ต้องการขอความช่วยเหลือไปเสนอให้รัฐบาล ดังนั้น การไปขอความช่วยเหลือก็ต้องมีแผนไปเสนอ เพื่อทำงานร่วมกับรัฐบาล อาทิ ต้องการให้แก้ไข กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการลงทุนเรื่องใด ปัญหาเรื่องระบบภาษีต่างๆ ฯลฯ เพราะรัฐบาลก็อยากได้ผลงานหากช่วยเหลือเรา แล้วเกิดผลสำเร็จเราก็จะได้เป็นอีกฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต

เมื่อมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและนำไปยื่นให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือ อาทิ การของบจาก ภาครัฐมาอัปเกรดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นให้เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มทักษะให้แรงงาน เมื่อนายจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น แรงงานก็มีรายได้เพิ่มขึ้น ตามสมการ เมื่อขายสินค้าได้แพงขึ้น มีกำไรมากขึ้น ก็สามารถจ่ายค่าแรงงานได้เพิ่มขึ้น ที่จะช่วยตัดปัญหาการถกเถียงเรื่องค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น

“การที่ผมเสนอตัวชิงตำแหน่งในครั้งนี้ เพราะต้องการช่วยเหลือสมาชิก ช่วยเหลือประเทศ เมื่อ ส.อ.ท.มีความแข็งแรงก็จะเป็นที่ยอมรับของคนไทย และไม่ต้องการให้มองภาพว่าเป็นการแข่งขันแบบสร้างความแตกแยก ต้องการให้สมาชิก ส.อ.ท. มีความสามัคคีกันเหมือนเดิน เมื่อจบการแข่งขันส.อ.ท.ก็ต้องเดินไปข้างหน้า การแข่งขันครั้งนี้อยากให้มองว่าเป็นการสร้างสรรค์ ไม่ใช่ความแตกแยก”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ