พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันยังเติบโตในอัตราชะลอตัวซึ่งคาดการณ์ว่า ปี 2567 เศรษฐกิจจะเติบโต 2.8% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับสูงที่ 2.5% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 บ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ
นอกจากนี้ สถานการณ์ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มกระทรวงการคลังจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐ ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเกินไปผ่านโครงการ “แบงก์รัฐลดก่อน ผ่อนภาระประชาชน”
โดยล่าสุดเตรียมเสนอ ครม.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่มเติม ผ่านอย่างน้อย 5 โครงการใหม่ ได้แก่
1. สินเชื่อ IGNITE THAILAND ของธนาคารออมสิน ที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SME 3 กลุ่มเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ Thailand Vision ของนายกรัฐมนตรี ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ ประกอบด้วย
2. สินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาทต่อราย โดยธนาคารออมสิน สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 10 กว่าล้านราย โดยคาดว่าสินเชื่อโครงการใหม่จะสามารถเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567
3. สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
4. สินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัยของบุคลากรภาครัฐ โดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ กู้เพื่อซื้อ ปลูก สร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม รีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ 2.90% ต่อปี ปีที่ 2 เท่ากับ 3.75% ต่อปี และปีที่ 3 เท่ากับ 3.90% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 3.52% ต่อปี สามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ และทำนิติกรรมภายใน 30 ธ.ค. 2567
5. สินเชื่อเอ็กซิมเริ่มต้นส่งออก เงินทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.75% ต่อปี (Prime Rate -1.00% ต่อปี) สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม (Size S) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกหรือนำเข้าเพื่อส่งออก วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท พร้อมกับลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี ในปีแรก กรณีลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK
อย่างไรก็ตาม พรชัย กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมาแบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยกันตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565 และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) ลง 0.15% ต่อปี
หรือกรณีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย เพื่อให้ลูกหนี้เดิมของ ธอส. สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อ SME Refinance เพื่อลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของแบงก์รัฐ สามารถช่วยเหลือประชาชนไปแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนหากมีการลดดอกเบี้ย พรชัย กล่าวว่า เมื่อธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารกับลูกค้าไม่ได้เกิดขึ้นในทันที เนื่องจากธนาคารต้องใช้เวลาประเมินต้นทุนทางการเงิน ไม่เหมือนกับช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ธนาคารจึงต้องพร้อมใจกันปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดภาระให้กับประชาชน ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหลักเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพ
โดยการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยที่ชัดเจน จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ มีเวลาเตรียมตัวบริหารต้นทุนการดำเนินธุรกิจ วางแผนการขอสินเชื่อ
ทั้งนี้การลดดอกเบี้ย 0.25% จะช่วยสนับสนุนการบริโภคเพิ่มขึ้น 0.15% และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 0.16% จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น
“การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณไปถึงสถาบันการเงินต่างๆ ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ” พรชัย กล่าว
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney