“มนพร” ยกระดับคมนาคมทางน้ำ ชู “แลนด์บริดจ์-แหลมฉบัง” ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“มนพร” ยกระดับคมนาคมทางน้ำ ชู “แลนด์บริดจ์-แหลมฉบัง” ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

Date Time: 14 มี.ค. 2567 08:01 น.

Summary

  • “มนพร” เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล ยกระดับการขนส่งทางน้ำทั้งระบบ หนุนโครงการ “แลนด์บริดจ์–แหลมฉบังเฟส 3” พร้อมเดินหน้ายกระดับมาตรฐานท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา–คลอง ใน กทม. เร่งสร้างท่าเรือสำราญในเมืองท่องเที่ยว หวังกระตุ้นท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สร้างงาน

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางนโยบายที่จะเข้ามาดำเนินการยกระดับการพัฒนาขนส่งทางน้ำในปี 67 และ 68 ว่า ในฐานะที่รับผิดชอบการขนส่งทางน้ำ ตนจะทำงานโดยเน้นส่งเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้นำนโยบายของรัฐบาลใน 4 นโยบายหลัก คือ 1.การคมนาคมเพื่อเปิดประตูการค้า ท่องเที่ยว โดยเป็น HUB เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ 2.คมนาคมเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง 3.คมนาคมเพื่อคุณภาพชีวิต ลดต้นทุนในการเดินทาง และ 4.คมนาคมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

สำหรับนโยบายหลักที่จะพัฒนาการขนส่งทางน้ำในปี 67 และปี 68 จะเร่งเดินหน้าคือโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การศึกษาเพื่อพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดขอนแก่น พร้อมนำเทคโนโลยีสนับสนุนการดำเนินงานท่าเรือกรุงเทพฝั่งตะวันตก เป็นระบบ Automation รวมทั้งจะไม่ทิ้งการพัฒนาท่าเรือในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค โดยจะเดินหน้ายกระดับการเดินทางเชื่อมโยงระบบการขนส่งอื่น สนับสนุนการท่องเที่ยว พัฒนาระบบกำกับความปลอดภัยและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางน้ำ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ

ยกระดับขนส่งทางน้ำ “เจ้าพระยา-คลอง”

“ปัจจุบันการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งการเดินทาง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า กระทรวงคมนาคมจึงมีโครงการที่จะยกระดับการให้บริการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำมากขึ้น”

ประกอบด้วย 1.พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการยกระดับมาตรฐานของท่าเรือให้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น รวมถึงเตรียมรองรับระบบตั๋วร่วม โดยออกแบบให้รองรับผู้ใช้บริการทุกประเภท คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสใน 29 ท่าเรือ โดยได้มีการปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จ 9 ท่า และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 ท่าประกอบด้วย ท่าพระปิ่นเกล้า ท่าพระราม 5 ท่าปากเกร็ด ท่าเกียกกาย ท่าพระราม 7

ขณะที่ในปี 68 จะดำเนินการอีก 15 ท่า ประกอบด้วย ท่าราชวงศ์ ท่าโอเรียนเต็ล ท่าเทเวศร์ ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ท่าเขียวไข่กา ท่าพิบูลสงคราม 2 ท่าวัดตึก ท่าพิบูลสงคราม 1 ท่าวัดเขมา ท่าวัดสร้อยทอง ท่าวัดเทพากร ท่าวัดเทพนารี ท่ารถไฟ ท่าสี่พระยา ท่าพรานนก

2.พัฒนาระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในท่าเทียบเรือและลำน้ำด้วยกล้องโทรทรรศน์วงจรปิดแบบ AI ในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองแสนแสบ โดยเริ่มระยะที่ 1 ในปีนี้ โดยติดตั้งกล้อง AI ณ 40 ท่าเรือโดยสาร และ 3 จุดเฝ้าระวัง เริ่มจากท่าเรือพระนั่งเกล้าถึงท่าเรือวัดราชสิงขร ส่วนระยะที่ 2 เริ่มปี 68 ติดตั้งกล้อง AI จากปากเกร็ดถึงสะพานพระราม 9 ขณะเดียวกันจะเดินหน้าติดตั้งกล้อง AI ในคลองแสนแสบ และมีแผนที่จะติดตั้งให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

3.ส่งเสริมให้ใช้เรือพลังงานไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรือไฟฟ้าให้จูงใจผู้ประกอบการ เจ้าของเรือ หันมาใช้เรือไฟฟ้า และภายในปี 67 นี้จะเสนอแผนปฏิบัติการพัฒนาทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พ.ศ.2567-2575 หรือ W MAP ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางให้เดินทางทางน้ำเพื่อเชื่อมโยงกับระบบการเดินทางอื่นทั้งทางถนนและทางรางในเขต กทม. และปริมณฑล ใน 7 สายทาง ระยะทางรวม 196.6 กิโลเมตร ครอบคลุมคลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองขุดมหาสวัสดิ์ คลองบางกอกน้อย คลองเปรมประชากร คลองประเวศบุรีรมย์ และแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงปากเกร็ด-ปทุมธานี

ผุดท่าเรือสำราญ “อ่าวไทย–อันดามัน”

ในส่วนของการเชื่อมโยงสนับสนุนการท่องเที่ยว นางมนพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีสภาพความแออัดในการเทียบท่าของเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) ในช่วง High season ประกอบกับตามนโยบายรัฐบาลต้องการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ จึงมีแนวทางในระยะเร่งด่วนเพื่อจัดระบบบริหารท่าเรือเพื่อแก้ไขปัญหาตารางเทียบเรือ Cruise ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ที่ทับซ้อนกัน

ขณะที่ระยะกลางศึกษาทบทวนความเหมาะสมของท่าเทียบเรือ E0 ในท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อรองรับเรือ Cruise ส่วนระยะต่อไปจะเป็นพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) แห่งใหม่ในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการ Cruise Terminal ตามแนวทางการร่วมทุนในบริเวณเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, บริเวณอ่าวไทยตอนบน และบริเวณฝั่งอันดามัน โดยเบื้องต้นแนวคิดที่จะร่วมทุน Cruise Terminal ที่เกาะสมุยนั้น คาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ประมาณปี 71 ส่วนแผนดำเนินการ Cruise Terminal บริเวณอ่าวไทยตอนบนและฝั่งอันดามัน ปี 67 คาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ประมาณปี 72

เดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือภูมิภาค เสริมทรายชายหาด และดำเนินมาตรการการควบคุมเรือเข้า-ออกท่าเรือ (PORT CONTROL) ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว รวมถึงปรับปรุงท่าเรือภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการเดินทางและท่องเที่ยว ได้แก่ ท่าเรือเกาะล้าน จ.ชลบุรี, ท่าเรือเกาะกูดซีฟร้อนท์ จ.ตราด ท่าเรือดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ท่าเรือเกาะสุกร จ.ตรัง และท่าเรือเกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 68 และ 69 ส่วนการพัฒนาท่าเรือภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยง กระบี่-พังงา-ภูเก็ต หรือวงแหวนอันดามันนั้นจะมีการดำเนินการในปี 67-69 โดยมีแผนพัฒนาท่าเรือมาเนาะห์ ต.เกาะยาวน้อย จ.พังงา และท่าเรือช่องหลาด ต.เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา และในปี 68-70 จะพัฒนาท่าเรือท่าเลน ต.เขาทอง จ.กระบี่ และท่าเรืออ่าวปอ ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต

นอกจากนั้น ยังมีภารกิจฟื้นคืนสภาพชายหาดให้ประชาชนและสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยเสริมทรายที่ชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ระยะที่ 2 ระยะทาง 2.85 กม., ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ระยะที่ 1 ระยะทาง 1.2 กม., เขาหลักถึงแหลมปะการัง ต.ตะกั่วป่า จ.พังงา ระยะที่ 1 ระยะทาง 2.9 กม., หาดบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระยะที่ 1 ระยะทาง 1.5 กม. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 69 และ 70.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ