ระบบเตือนภัยฉุกเฉินแห่งชาติ Cell Broadcast Service

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ระบบเตือนภัยฉุกเฉินแห่งชาติ Cell Broadcast Service

Date Time: 12 มี.ค. 2567 05:40 น.

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

การสร้างระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือด้วยระบบ Cell Broadcast Service (CBS) ที่เป็นการส่งข้อความเตือนภัยตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในบริเวณนั้น ครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ กำลังถูกกำหนดให้กลายเป็นมาตรฐานโลกที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ในการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ประจำปี 2565 หรือ COP-27 นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ สหประชาชาติหรือยูเอ็น ตั้งข้อสังเกตว่าครึ่งหนึ่งของมนุษยชาติอาศัยอยู่ในเขตอันตราย โดยเฉพาะชุมชนในเขตร้อนที่ถูกคุกคามจากภัยธรรมชาติโดยไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า เขาเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทำงานร่วมกันในโครงการริเริ่มการเตือนล่วงหน้าสำหรับทุกคน (EW4A) ของยูเอ็น ซึ่งกำหนดว่าทุกคนในโลกควรได้รับการคุ้มครองด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าภายในปี 2570

ความพิเศษของระบบแจ้งเตือนภัยผ่านมือถือด้วยระบบ CBS อยู่ที่ศักยภาพของเทคโนโลยีที่สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังมือถือหลายล้านเครื่องภายในไม่กี่วินาที ครอบคลุมพื้นที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องรู้เบอร์โทรศัพท์ ต่างจากระบบส่งข้อความผ่านเอสเอ็มเอส (SMS)

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการใช้ระบบเตือนภัยดังกล่าว เริ่มต้นจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแรกๆที่ใช้ระบบ CBS เนื่องจากเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว เมื่อประชาชนได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้ สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีและปลอดภัย หรือในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการแจ้งเตือนภัยครอบคลุมการแจ้งประชาชนที่กำลังอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ตลอดจนการแจ้งคนหาย เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ช่วยกันสอดส่อง ประเทศที่เหลือได้แก่ สหรัฐอเมริกา ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ แคนาดา นิวซีแลนด์ เปรู ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย หลังต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรง ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อปี 2547 ตามด้วยเหตุกราดยิงที่โคราช สยามพารากอน ตลอดจนภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง ทั้งน้ำท่วมฉับพลัน ไฟป่า ดินถล่ม รวมทั้งฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง

การผลักดันให้เกิดการใช้งานระบบ CBS จึงทวีความจริงจังขึ้นตามลำดับ เรื่องใหญ่เป็นเรื่องของการจัดหางบประมาณ เพราะทั้งฝั่งรัฐบาลและเอกชนต้องใช้เงินลงทุนขั้นต้นราวรายละ 400 ล้านบาท เนื่องด้วยโครงสร้างของเทคโนโลยี Cell Broadcast Service แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่

ฝั่งที่ 1 เป็นการดำเนินการโดยศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ต้องกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชันต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator) และการอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ฝั่งที่ 2 เป็นการดำเนินการและดูแลโดยผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือ ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และการบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)

เบื้องต้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี จะเป็นเซ็นเตอร์ภาครัฐในการขับเคลื่อนการนำ CBS มาใช้ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 นโยบายสำคัญในปี 2567 ของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอี โดยกระทรวงดีอีต้องทำงานสอดประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร และผู้ให้บริการมือถือทุกราย โดยสำนักงาน กสทช.จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคมหรือกองทุน กทปส. (USO) ตั้งเป้าใช้งานได้จริงภายในสิ้นปี 2567

ขณะที่ฝั่งเอกชน ผู้ให้บริการมือถือทั้งเอไอเอสและทรูได้เริ่มทดลองการใช้ระบบ CBS แล้ว โดยนายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์เอไอเอส ให้ข้อมูลว่า ระบบ CBS เหมาะสมกับการใช้แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอมือถือ (Pop UP Notification) แบบแทบจะทันท่วงที (Near Real Time Triggering) จากการทดสอบได้ผลตามเป้าหมายและพร้อมเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศ

ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กรทรู กล่าวว่า ได้ทดสอบระบบในห้องปฏิบัติการ (Lab test) สำเร็จแล้ว โดยระบบจะแจ้งเตือนทันทีแม้ปิดเครื่อง มีทั้งสัญญาณเสียงและข้อความ Pop up หน้าจอ แจ้งเหตุพร้อมกันรอบเดียว เจาะจงพื้นที่เป้าหมายผ่านมือถือโดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ เบื้องต้นกำหนดเหตุฉุกเฉิน 5 ระดับ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ภายใต้เป้าหมายป้องกันอันตรายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ.

ศุภิกา ยิ้มละมัย

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ