ครัวเรือนหนี้บาน 16.2 ล้านล้านบาท ขาดสภาพคล่องหนักดันหนี้จำนำทะเบียนรถพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ครัวเรือนหนี้บาน 16.2 ล้านล้านบาท ขาดสภาพคล่องหนักดันหนี้จำนำทะเบียนรถพุ่ง

Date Time: 5 มี.ค. 2567 07:50 น.

Summary

  • สศช.เผยไตรมาส 3 ปี 66 หนี้ครัวเรือนไทยทะลุ 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่ม 3.3% จากไตรมาสก่อน ดันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.9% ของจีดีพี ชี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง หลังประชาชนลดก่อหนี้เกือบทุกประเภทสินเชื่อ เว้นหนี้จำนำทะเบียนรถ ที่ยอดพุ่ง 40.2% สะท้อนครัวเรือนขาดสภาพคล่อง

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 66 ว่า หนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาส 3 ปี 66 มีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% และชะลอตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 65 โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 90.9% ของจีดีพี ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 152,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน

สำหรับหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มาจากการก่อหนี้ที่ลดลงในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นรถยนต์ (สินเชื่อจำนำทะเบียน) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับขยายตัวถึง 15.6% ขยายตัวสูงตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 64 โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ที่เพิ่มขึ้น 40.2% สะท้อนให้เห็นการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่อนุมัติเร็วและง่าย แต่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ และเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกู้ยืมเงินเพื่อเติมสภาพคล่อง

นอกจากนี้ สินเชื่อประเภทยานยนต์ยังมีหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือน (เอสเอ็มแอล) สูงขึ้นต่อเนื่องโดยมาอยู่ที่ 14.5% สูงกว่าเอสเอ็มแอลทั่วไปที่อยู่ที่ระดับ 6.66% สะท้อนปัญหารุนแรงของหนี้เสียสินเชื่อยานยนต์ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าในปี 66 มียอดรถถูกยึดเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 คันต่อเดือน จากในปี 65 อยู่ที่ประมาณ 20,000 คันต่อเดือน

ขณะที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ เริ่มเห็นสัญญาณการก่อหนี้ลดลงแล้ว ภาครัฐควรผ่อนเกณฑ์มาตรการอัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลัก ประกัน (แอลทีวี) เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เข้มงวดน้อยลงหรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณา ซึ่งก็ต้องดูให้รอบคอบระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจกับความเสี่ยงที่อาจทำให้ประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกับความพยายามในการลดหนี้ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังอยู่ในระดับสูงมาก และต้องหาทางลดลงมาก่อน

นายดนุชา กล่าวต่อว่า สศช.สรุปประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญที่เกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน ได้แก่ 1.การติดตามการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ตามประกาศของธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) และการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงการก่อหนี้ส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ขยายตัวในระดับสูงและมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ไตรมาส 3 ปี 66

2.ติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน รวมถึงการเข้ารับความช่วยเหลือของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง

3.การเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ

และ 4.ติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ และอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการกู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ รวมทั้งเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ