ลดภาษีไวน์หนุนท่องเที่ยว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ลดภาษีไวน์หนุนท่องเที่ยว

Date Time: 27 ก.พ. 2567 05:33 น.

Summary

  • ในที่สุดมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ด้วยการปรับลดภาษี ไวน์ สุราแช่ และสถานบริการ ก็ได้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 23 ก.พ.67 ที่ผ่านมา

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ในที่สุดมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ด้วยการปรับลดภาษี ไวน์ สุราแช่ และสถานบริการ ก็ได้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 23 ก.พ.67 ที่ผ่านมา

การปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าไวน์ สุราแช่ นั้น จะทำให้ราคาไวน์ มีความเหมาะสม เป็นสากล และช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากเป็นมาตรการที่จูงใจด้านราคาเพื่อให้เกิดการบริโภคของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในการใช้จ่ายซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายแห่งการท่องเที่ยวและใช้เวลาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น

สำหรับรายละเอียดการจัดเก็บอัตราภาษีใหม่ ดังนี้ ไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น หรือไวน์องุ่น 100% จากเดิมเก็บภาษีตามมูลค่าราคาขายปลีกแนะนำเกิน 1,000 บาท ที่ 10% และราคาขายปลีกแนะนำ
ไม่เกิน 1,000 บาท ที่ 0% ปรับเป็นจัดเก็บอัตราเดียวที่ 5% และปรับลดอัตราภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์จาก 1,500 บาทต่อลิตรที่ 100 ดีกรี เหลือ 1,000 บาทต่อลิตร

ฟรุตไวน์ หรือสุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่น หรือไวน์องุ่นที่มีส่วนผสมของผลไม้อื่นๆ จากเดิมเก็บภาษีตามมูลค่า ราคาขายปลีกแนะนำเกิน 1,000 บาท อัตรา 10% และราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 1,000 บาท อัตรา 0% ปรับลดเหลือ 0% ทั้งหมด และอัตราภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ เดิม 900 บาทต่อลิตรที่ 100 ดีกรี

หากคิดคำนวณราคาไวน์กันคร่าวๆ ไวน์ราคาขวดละ 1,000 บาทจะเสียภาษีตามมูลค่า 5% หรือ 50 บาทต่อขวด และภาษีตามปริมาณ100บาท รวมเบ็ดเสร็จ 150 บาท จากเดิมเสียภาษีรวม 200-250 บาท หากราคาไวน์ขวดละ 10,000 บาท จะเสียตามมูลค่า 5% คิดเป็น 500 บาท และภาษีตามปริมาณอีก 100 บาท รวมเป็น 600 บาท จากเดิม 1,200-1,000 บาทต่อขวด ดังนั้นราคาไวน์ น่าจะลดลงอย่างแน่นอน

ขณะที่สุราแช่ แบ่งเป็นสุราแช่พื้นเมือง หรือสุราพื้นบ้าน เช่น อุ กะแช่ สาโท ที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี เดิมเก็บภาษีตามมูลค่า ที่ 10% ปรับลดเหลือ 0% ขณะที่ภาษีตามปริมาณเก็บในอัตราเท่าเดิม 150 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์ที่ 100 ดีกรี ซึ่งอัตราภาษีจะลดลง เพื่อส่งเสริมสุราพื้นบ้าน ยกตัวอย่าง การจัดเก็บภาษี “สาโท” จากเดิมขวดละ 9.55 บาท ปรับลดลงเหลือ 6.09 บาท

ส่วนสุราแช่ที่มีสุรากลั่นผสมและมีแอลกอฮอล์เกิน 7 ดีกรี อาทิ เหล้าโชจู ให้เก็บภาษีตามมูลค่า ที่ 10% เท่าเดิม และปรับขึ้นภาษีตามปริมาณจากเดิม 150 บาทต่อลิตรที่ 100 ดีกรี เป็น 255 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์ที่ 100 ดีกรี ทั้งนี้การปรับภาษี สุราแช่ เพื่อลดความแตกต่างด้านภาษีของสุราแช่

ยกตัวอย่าง เหล้าโชจู ที่แบ่งเป็น 2 แบบ คือ โชจูแช่ เดิมเก็บภาษีได้ขวดละ 13 บาท ปรับเพิ่มเป็น 17 บาท ส่วนโชจู แบบกลั่น เก็บภาษีได้ขวดละ 23 บาท ในอัตราเดิม เนื่องจากที่ผ่านมามีการเลี่ยงภาษี แจ้งพิกัดภาษีไม่ตรง เพื่อให้จ่ายภาษีลดลง ดังนั้นเมื่อกำหนดอัตราภาษีสุราแช่ที่ชัดเจนแล้ว เชื่อว่าจะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น

ส่วนภาษีเบียร์เพื่อการค้า อัตราภาษีคงเดิมไม่มีเปลี่ยน แปลงจัดเก็บตาม มูลค่าในอัตรา 22% ส่วนจัดเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ลิตรละ 430 บาท

และอีกมาตร การหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว และทำให้ผู้ประกอบการผับบาร์ มีเงินเสริมสภาพคล่อง รัฐบาลจึงให้ปรับลดอัตราภาษีจาก 10% เหลือ 5% ของรายรับ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.-31 ธ.ค.67 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ กิจการสถานบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดได้กลับมาฟื้นตัว และส่งเสริมการจ้างงานเพิ่มขึ้น

การปรับลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์นั้น กระทรวงการคลัง ได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้วว่า ยอมสูญรายได้จากการจัดเก็บภาษีไวน์ ราว 1,000 ล้านบาท เพื่อแลกเม็ดเงินที่จะหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่าเงินจะสะพัดหลายพันล้านบาท

สำหรับการนำเข้าไวน์นั้น กรมศุลกากรได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษี ประชาชนหรือนักท่องเที่ยว ถือไวน์ เหล้า เบียร์ ไม่เกิน 1 ลิตรต่อคน ไม่ต้องเสียภาษีใดๆ แต่หากนำเข้าเกิน 1 ลิตร แต่ไม่เกิน 10 ลิตร ต้องเสียภาษีตามอัตราที่กรมสรรพสามิตกำหนดไว้ข้างต้น เมื่อชำระค่าภาษีแล้ว จะได้รับแสตมป์ของกรมสรรพสามิตติดไว้ว่า “ห้ามจำหน่าย”

ขณะที่ผู้ประกอบการนำเข้าไวน์ จะต้องขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการนำเข้าไวน์ และยื่นเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อนำเข้าไวน์มาแล้ว ต้องยื่นแจ้งจำนวนไวน์ เพื่อเสียภาษี และติดแสตมป์ จากนั้นจึงจะนำไปจำหน่ายได้ ขณะนี้ผู้นำเข้าไวน์สามารถตรวจสอบอัตราการเสียภาษีได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพสามิต

สำหรับการจัดเก็บภาษีไวน์นั้น ไม่ได้แยกออกมาเป็นการเฉพาะให้เห็นชัดเจน แต่อยู่ในหมวดของภาษีสุรา ซึ่งในปีงบประมาณ 66 รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสุรา 64,168 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 86,481 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 67 (ต.ค.66-ม.ค.67) จัดเก็บภาษีสุรา 17,322 ล้านบาท และภาษีเบียร์ 21,415 ล้านบาท

กระทรวงการคลัง เชื่อว่าการปรับปรุงโครงสร้างภาษีไวน์ และสุราแช่ ครั้งนี้จะทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสุราเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน!!

ดวงพร อุดมทิพย์

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ