“มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 37 ในเดือนมกราคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “ดอกเบี้ยสูง หนี้พุ่ง อุตสาหกรรมไปต่ออย่างไร” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ค่อนข้างมีความกังวลกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดำเนินนโยบายในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เป็นระยะเวลานาน
โดยแม้เข้าใจว่าที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามอย่างมากที่จะสร้างสมดุลในการบริหารนโยบายการเงินของประเทศ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและการเสริมสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาท
แต่อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดของผู้ประกอบการในประเทศ และกำลังอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และการต้องเร่งปรับธุรกิจเพื่อรับมือกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกตัวในช่วงปีที่ผ่านมา
ในประเด็นเรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ Spread ของธนาคารพาณิชย์ ที่มีความห่างมากเกินไปเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศในอาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการชะลอการขยายธุรกิจหรือการลงทุนใหม่ เพิ่มความเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งกระทบต่อกำลังซื้อสินค้าของประชาชน
ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ จึงเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาออกมาตรการกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยทั้งในส่วนของเงินฝากและสินเชื่อ รวมทั้งมีการประกาศกำหนดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบที่ภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการนั้น จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชน ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจที่สะสมมานานได้ในระดับปานกลาง โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อพัฒนาศักยภาพในกระบวนการผลิตและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งควรช่วยพิจารณาปรับลดเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น