เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า GDP ไทย ปี 2566 คงพลาดเป้าอย่างมาก โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับเองวานนี้ (31 ม.ค. 67) ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4/66 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ มรสุมรุมเร้า ยังเป็นปัญหาการส่งออก การผลิต และการลงทุนที่ถดถอยลง ส่งผลกระทบต่อ GDP ทั้งปี นำมาสู่การเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมที่ ธปท.คาดไว้ GDP ไทยอาจขยายตัวได้สูง 2.4% และเตรียมปรับลด GDP ปี 67 อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้อง (เดิมคาดไว้ 3.2%) จากฐานตัวเลขจริง
จากประเด็นข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยเพลี่ยงพล้ำ และน่าเป็นห่วงหลายจุด เพราะแม้หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ภาคท่องเที่ยวกลับมา แต่ดูจะไม่เหมือนเดิม จากนักท่องเที่ยวหลัก “ชาวจีน” กลับมาแค่ครึ่งเดียว ด้วยปัญหาเศรษฐกิจภายในจีนเอง คาดใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัว เกิดคำถามตามมา แล้วไทยยังจะพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวจีน ได้เหมือนเดิมอีกหรือไม่? เช่นเดียวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลง พบขาดดุลการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกับจีน
ในการแถลงข่าววานนี้ ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ได้ชี้ให้เห็นภาพความน่ากังวล ของทิศทางเศรษฐกิจไทย ไว้หลายประการ พร้อมตั้งคำถามว่า สรุปแล้ว วันนี้เศรษฐกิจไทย โตต่ำกว่าศักยภาพ ตามคำกล่าวของผู้ว่าฯ ธปท. หรือ ศักยภาพกำลังลดลงกันแน่? ท่ามกลางปัจจัยถ่วง 4 ข้อ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ดร.พิพัฒน์ ระบุ ถ้ามองย้อนกลับไปยาวๆ เศรษฐกิจไทยมีแต่จะถดถอยลง (สาละวันเตี้ยลง) และไม่ได้เพิ่งเริ่ม แต่เกิดขึ้นทุกครั้งหลังวิกฤติจากต้มยำกุ้ง, วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และล่าสุดโควิด-19
ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติ
“ทุกครั้งดูเหมือนว่าเราจะฟื้นตัวกลับไปได้ ด้วยการหาเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ๆ แม้ไม่ได้กลับไปโตได้เหมือนเดิม แต่ก็ยังพอพยุงตัวเองไปได้ แต่สำหรับวิกฤติโควิดครั้งนี้ ดูเหมือนเรายังคลำหาทางไม่เจอ และยังไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรอะไรดี ทั้งนักท่องเที่ยวที่ยังกลับมาช้า ความสามารถในการส่งออกที่ดูจะไม่แข็งแกร่งเหมือนเดิม ถ้ายังไปแบบเดิม เศรษฐกิจไทยก็จะโตช้าเรื่อยๆ ไล่ตามประเทศอื่นๆ ไม่ทัน แล้วเราจะไปต่ออย่างไร”
ดร.พิพัฒน์ เผยต่อว่า ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับญี่ปุ่น หลังจากวิกฤติในปี 1990 เรียกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นติดหล่มมากว่า 30 ปี จนกระทั่ง Shinzo Abe (ชินโสะ อาเบะ) นายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ ได้นำเสนอลูกศร 3 ดอก เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่น จนทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงหลัง
สิ่งแรกที่สำคัญที่จะนำไปสู่การผลักดันนโยบายปฏิรูปได้จริง คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา สอง : หาฉันทามิติของสังคมร่วมกัน เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงมีทั้งผลทางบวก และ ทางลบเสมอ คำถามคือ แล้วลูกศร 3 ดอกของประเทศไทย คืออะไร? และเราจะหาจุดร่วมทางการเมืองได้อย่างไร รวมถึง ใครจะเป็นคนยิงลูกศรนั้นออกไป เป็นประเด็นที่ต้องรีบถกเถียงกันก่อนที่จะเสียเกินไป
ทั้งนี้ สำหรับญี่ปุ่น ที่เป็นกรณีศึกษา พบสิ่งที่ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการ คือ ...
“กระนั้น ญี่ปุ่นก็ยังต้องใช้เวลาเกือบทศวรรษกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัว โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าว นายกฯ อะเบะต้องยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจหลายครั้ง เพื่อสร้างฉันทามติทางการเมือง เพราะมีคนทั้งได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์นโยบายปฏิรูป”